SDGบนเส้นด้ายใกล้หมดเวลา2030 UNชี้เลิก“พูด”แล้ว“ต้องลงมือทำ”

SDGบนเส้นด้ายใกล้หมดเวลา2030 UNชี้เลิก“พูด”แล้ว“ต้องลงมือทำ”

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ทั้ง 17 กลุ่มกำลังเผชิญ“เงื่อนไขด้านเวลา”ถามหาถึงความคืบหน้าการทำงานตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนนี้มีเดิมพันที่ยิ่งใหญ่ถึงความอยู่รอดของประชาคมโลก

องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เผยแพร่ “รายงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2024” หรือ “ The Sustainable Development Goals Report 2024”  พบว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันประชาคมโลกเข้าใกล้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพียง 17%  เท่านั้น และพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง ขณะที่มากกว่าหนึ่งในสามได้หยุดชะงักหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนนี้ 

“การระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความวุ่นวายทางสภาพอากาศที่เพิ่มมากขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” 

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ไม่เพียงไม่มีความคืบหน้า แต่ยังพบความบกพร่องเชิงระบบ และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการงานระดับโลกมากขึ้น โดยประเทศกำลังพัฒนาต้องรับมือกับความท้าทายมากขึ้นแต่การสนับสนุนจากนานาชาติกลับมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

ความไม่เท่าเทียมกันยังคงเพิ่มขึ้น วิกฤตสภาพอากาศยังคงทวีความรุนแรงขึ้น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเร่งตัวขึ้น การสร้างความเท่าเทียมทางเพศยังน่าผิดหวัง ซ้ำเติมด้วยความขัดแย้งในยูเครน กาซา ซูดาน และที่อื่นๆ ทำให้ผู้คนกว่า 120 ล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นฐาน

“สถานการณ์ที่ว่ามานี้ยังไม่ดีขึ้นหากประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมต้องเผชิญกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางที่ย้ำแย่ที่สุดในรอบหนึ่งชั่วอายุคน”

      อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ว่า ท่ามกลางความกังวลต่างๆ ยังมีอีกด้านของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีความคืบหน้า นั่นคือ การลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก การติดเชื้อ HIV และต้นทุนของการโอนเงิน รวมถึงการปรับปรุงการเข้าถึงน้ำ สุขาภิบาล พลังงาน และบรอดแบนด์มือถือ        ดังนั้น ก็อย่าได้สิ้นหวังรายงานยังแนะนำแนวทางดำเนินงานที่ต้องให้ความมุ่งมั่นอย่างกล้าหาญเพื่อพิชิตเป้าหมายความยั่งยืนให้ได้ประกอบด้วย ประการแรก สันติภาพ การเจรจาและการทูตจะป้องกันความขัดแย้งในอนาคต ประการที่สอง ความสามัคคี ประเทศกำลังพัฒนาต้องการทรัพยากรทางการเงินและพื้นที่ทางการเงินอย่างเร่งด่วน จึงต้องปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศที่ล้าสมัย ไร้ประสิทธิภาพ และไม่ยุติธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

       ประการที่สาม การลงมือปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ด้วยความร่วมมืออย่างม่ีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านอาหาร พลังงาน การเชื่อมต่อดิจิทัล และอื่นๆ เพื่อปลดล็อกอุปสรรคที่จะบรรลุเป้าหมาย ทั้งความเท่าเทียมทางเพศและเสริมพลังให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

“รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเและเป็นโอกาสสำคัญที่ปูทางไปสู่ความก้าวหน้าเพิ่มเติมในงานประชุม Financing for Development และ World Social Summit ในปี 2025 เมื่อเหลือเวลาอีกกว่า 6 ปี เราต้องไม่ละทิ้งคำมั่นสัญญาในปี 2030 ที่จะ ยุติความยากจน ปกป้องโลก และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

 ด้านหลี่ จุนฮวา รองเลขาธิการฝ่ายกิจการเศรษฐกิจและสังคม  กล่าวว่า เมื่อก.ย. 2524 ที่ผ่านมาผู้นำรัฐบาลต่างรวมกันที่นิวยอร์กเพื่อร่วมการประชุมสุดยอด SDG หรือ Summit of the Futureเป็นการประชุมสุดยอดเเห่งอนาคต เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงการรับมือกับภัยคุกคามแห่งยุคสมัย โดยจัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 22 – 23 ก.ย. 2567 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐ ภายใต้ธีม ‘Multilateral Solutions for a Better Tomorrow’ หรือ ‘แนวทางหลากหลายส่วนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า”

การประชุมครั้งนั้นต่างพูดถึงการทบทวนความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้ความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายทุกด้านในปี 2030  เพราะ การบรรลุเป้าหมาย SDGs กำลังตกอยู่ในอันตราย  หลังจากหนึ่งทศวรรษของการสะสมหนี้อย่างรวดเร็ว  เศรษฐกิจที่มั่งคั่งจำเป็นต้องปลดล็อกเงินทุนสำหรับประเทศที่เปราะบาง และประเทศกำลังพัฒนาต้องมีบทบาทที่เท่าเทียมกัน

“ดังนั้นเราต้องบริหารเศรษฐกิจระดับโลกและระบบการเงินระหว่างประเทศเพื่อสร้างความยุติธรรมต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ   มลพิษทางอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกันก็ปรับทิศทางเศรษฐกิจให้มุ่งสู่การเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น การบรรลุถึงศักดิ์ศรีของคนทุกคนในทุกวัย ความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในด้านสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะตอบได้ว่าเป้าหมายความยั่งยืนจะสำเร็จตามกรอบเวลาหรือไม่” 

ตอนนี้ เวลาแห่งการพูดได้ผ่านไปแล้ว การประกาศทางการเมืองของการประชุมสุดยอดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องถูกแปลงเป็นการกระทำ เพราะเวลาสำหรับทุกคนภายในปี 2030 เวลากำลังหมดลง 

SDGบนเส้นด้ายใกล้หมดเวลา2030 UNชี้เลิก“พูด”แล้ว“ต้องลงมือทำ”