กฟผ. จัดการพลังงานสะอาดด้วย 3 เทคโนโลยี และเตรียมวางระบบค่าไฟ Green Tariff

กฟผ. จัดการพลังงานสะอาดด้วย 3 เทคโนโลยี และเตรียมวางระบบค่าไฟ Green Tariff

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งมั่นในการผลิตพลังงานสะอาดผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามประเภท พร้อมทั้งวางระบบค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ

ในงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024: The Extraordinary Green” ในช่วง Adavancing Towards Green Electricity การพัฒนาพลังงานสะอาด จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงบทบาทของ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภาคพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานไฟฟ้า ว่าทิศทางในอนาคตของ กฟผ. จะมุ่งเน้นการลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแน่นอน

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตเกือบ 80%

“ในเชิงนโยบายพลังงานของประเทศไทย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ โดยกำหนดให้สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนต้องไม่น้อยกว่า 50% ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งจะครอบคลุมเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net-Zero Carbon Emission ของปี พ.ศ. 2573 ด้วย กระทรวงพลังงานจึงพยายามปรับแผนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวให้มากขึ้น ซึ่งเรามองว่าหากหลังปี พ.ศ. 2573 เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จะเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ในภายหลัง”

บทบาท กฟผ. ช่วยประเทศเป็นกลางทางคาร์บอน

กฟผ. มีบทบาทสำคัญ 4 ประการในการสนับสนุนการพัฒนาพลังงาน ดังนี้

ประการแรก : การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ปัจจุบัน กฟผ. ไม่ได้เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบกรีนเพียงรายเดียว ภาคเอกชนก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานสะอาดด้วย โดย กฟผ. มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาโครงการบนพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น เขื่อน 10 แห่งทั่วประเทศ

ประการที่สอง : รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าของประเทศ เพราะภาคเอกชนที่มีความรู้และศักยภาพในการลงทุนได้ดำเนินการลงทุนในพลังงานสีเขียวอยู่แล้ว ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ประเทศลาวที่มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ภาคเอกชนได้ลงทุนในส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) และรายเล็ก (SPP)

ประการที่สาม : การปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถของระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการนำพลังงานสีเขียวไปสู่ผู้ใช้พลังงาน รวมถึงการมองหาเชื้อเพลิงที่สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าได้ โดยปัจจุบันทั่วโลกมุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ซึ่งสามารถทดแทนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติได้ กฟผ. จึงได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

ประการที่สี่ : การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบไฟฟ้าให้รองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนผลิตได้ในช่วงกลางวัน แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ในช่วงหัวค่ำ ดังนั้นการเสริมระบบส่งไฟฟ้าให้ทันสมัยและยืดหยุ่นจะเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาประเทศไทยไปสู่จุดหมาย การพัฒนานี้จะเป็นไปไม่ได้หากไม่มีกลไกในเรื่องของอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับพลังงานสีเขียว ปัจจุบันภาคนโยบายและภาคกำกับกำลังจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Utility Green Tariff: UGT)

เสริมแกร่งพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยี

การจัดการความแข็งแกร่งของระบบส่งเพื่อรองรับพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการจัดการด้านพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย 3 เทคโนโลยีหลักที่ กฟผ. ใช้ดังนี้

ระบบกักเก็บพลังงาน : การพัฒนาระบบส่งของประเทศไทยในอนาคตเพื่อรองรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดการพลังงาน โดยระบบเปลี่ยนพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่ที่ติดตั้งอยู่ที่ระบบส่ง (Grid-Scale BESS) มีบทบาทสำคัญในการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่ผลิตเกินความต้องการ เพื่อใช้ในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินโครงการนำร่องที่จังหวัดชัยภูมิและลพบุรีแล้ว

โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ : มีอยู่ที่เขื่อนลำตะคอง เขื่อนภูมิพล และเขื่อนศรีนครินทร์ การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับมีข้อดีในการจัดการพลังงานที่มีปริมาณมาก และสามารถถ่ายพลังงานเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการลงทุนด้านสายส่งเพิ่มเติม ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ภายในปี พ.ศ. 2580 เช่น เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และพื้นที่ภาคใต้

ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน : ระบบนี้สามารถพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าล่วงหน้าได้หนึ่งวันหรือ 6 ชั่วโมง เพื่อวางแผนการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการในทุกด้าน

การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบส่งไฟฟ้าและรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ