‘เอเวอเรสต์’ สูงขึ้นเรื่อย ๆ อิทธิพลจากแม่น้ำกัดเซาะ-แผ่นดินไหว

‘เอเวอเรสต์’ สูงขึ้นเรื่อย ๆ อิทธิพลจากแม่น้ำกัดเซาะ-แผ่นดินไหว

ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้น 15-50 เมตรในช่วง 89,000 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ โดยมีสาเหตุมาจากแม่น้ำใกล้เคียงกัดเซาะและดันพื้นดินลงมา ทำให้พื้นดินใต้ยอดเขาเอเวอเรสต์ดีดตัวกลับและยกตัวขึ้น

KEY

POINTS

  • ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้น 15-50 เมตร เพราะแม่น้ำใกล้เคียงกัดเซาะและดันพื้นดินลงมา ทำให้พื้นดินใต้ยอดเขาเอเวอเรสต์ดีดตัวกลับและยกตัวขึ้น
  • โดยเฉลี่ยแล้วเอเวอเรสต์สูงขึ้นประมาณปีละ 2 มิลลิเมตร สูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้
  • นอกจากนี้ ทุกครั้งที่เกิดรอยร้าวหรือแผ่นดินไหวจะทำให้เอเวอเรสต์มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นเอเวอเรสต์จึงมีความสูงมากกว่าภูเขารอบ ๆ

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะพิชิต “ยอดเขาเอเวอเรสต์” ได้ ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่แข็งแกร่งเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคที่ไม่คาดคิดและสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าภารกิจนี้จะยากขึ้นกว่าเดิม เพราะ “เอเวอเรสต์” กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ

งานวิจัยล่าสุดพบว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้น 15-50 เมตรในช่วง 89,000 ปีที่ผ่านมา สูงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ โดยมีสาเหตุมาจากแม่น้ำใกล้เคียงกัดเซาะและดันพื้นดินลงมา ทำให้พื้นดินใต้ยอดเขาเอเวอเรสต์ดีดตัวกลับและยกตัวขึ้น และยอดเขาเอเวอเรสต์จะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกเป็นล้านปี

ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ตั้งตระหง่านอยู่ตามแนวชายแดนเนปาล-ทิเบต มีความสูงประมาณ 8,850 เมตร ขึ้นชื่อว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก และอยู่สูงกว่าภูเขารอบ ๆ ที่สูงที่สุดรองลงมา คือ ภูเขาเคทู ที่มีความสูง 8,611 เมตร ประมาณ 250 เมตร

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ยอดเขาเอเวอเรสต์มีความสูงผิดปกติเมื่อเทียบกับภูเขาใกล้เคียงกัน?

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนได้สร้างแบบจำลอง เพื่อสำรวจวิวัฒนาการของเครือข่ายแม่น้ำในเทือกเขาหิมาลัยได้อย่างไร พบว่า เมื่อประมาณ 89,000 ปีก่อน บริเวณตอนบนของแม่น้ำอรุณที่ตั้งอยู่ทางเหนือของเอเวอเรสต์ ซึ่งน่าจะไหลไปทางทิศตะวันออกบนที่ราบสูงทิเบต ได้รวมเข้ากับบริเวณตอนล่าง เนื่องจากบริเวณหลังถูกกัดเซาะไปทางทิศเหนือ ทำให้แม่น้ำอรุณทั้งหมดกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบแม่น้ำโคสี

‘เอเวอเรสต์’ สูงขึ้นเรื่อย ๆ อิทธิพลจากแม่น้ำกัดเซาะ-แผ่นดินไหว

ทีมวิจัยเสนอว่าการเปลี่ยนเส้นทางที่เกิดขึ้นจาก “เหตุการณ์ลักน้ำ” (river capture event) ส่งผลให้แม่น้ำถูกกัดเซาะมากขึ้นใกล้เอเวอเรสต์ และเกิดหุบเขาแม่น้ำอรุณ

“ในเวลานั้น น้ำจำนวนมหาศาลจะไหลผ่านแม่น้ำอรุณ ซึ่งจะทำให้ตะกอนถูกพัดพาและกัดเซาะหินชั้นพื้นได้มากขึ้น และกัดเซาะพื้นหุบเขาลงไปถึงก้นหุบเขา” ดร.แมทธิว ฟ็อกซ์ นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ผู้เขียนร่วมของการวิจัยกล่าว

 

ยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้น 2 มิลลิเมตรต่อปี

เมื่อน้ำไหลลงสู่แม่น้ำอรุณมากขึ้น อัตราการกัดเซาะก็เพิ่มขึ้น เป็นเวลาตลอดหลายพันปี ทางน้ำกัดเซาะวัสดุต่าง ๆ ตามที่แม่น้ำไหลผ่านบนพื้นดิน จนกลายเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ตามริมฝั่ง และชะล้างตะกอนและดินจำนวนหลายพันล้านตัน การสูญเสียมวลมหาศาลดังกล่าวทำให้แผ่นดินโดยรอบยกตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “การดีดตัวกลับของเปลือกโลก” (isostatic rebound)

เครือข่ายแม่น้ำอรุณมีส่วนในการยกตัวของภูเขาด้วย กล่าวคือ ขณะที่แม่น้ำอรุณไหลผ่านเทือกเขาหิมาลัย มันจะกัดเซาะ ซึ่งลดแรงกดบนชั้นแมนเทิล (ชั้นถัดจากเปลือกโลก) ทำให้เปลือกโลกที่บางลงยืดหยุ่นและลอยสูงขึ้น

ทีมวิจัยประเมินว่ากระบวนการนี้ทำให้เอเวอเรสต์สูงขึ้นประมาณ 0.16-0.53 มิลลิเมตรต่อปี ตามการศึกษานี้ ยอดเขาอื่น ๆ ในเทือกเขาหิมาลัย เช่น โลตเซ และมะกาลู ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 4 และ 5 ของโลกตามลำดับ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และกระบวนการนี้จะยังดำเนินต่อไปจนกว่าแม่น้ำจะเข้าสู่สถานะสมดุลใหม่

เทือกเขาหิมาลัยก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 50 ล้านปีก่อน เมื่ออนุทวีปอินเดียชนเข้ากับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ซึ่งยังคงเคลื่อนตัวช้า ๆ มาจนถึงปัจจุบัน นักวิจัยคาดว่ายอดเขาจะเติบโตประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี แต่ข้อมูล GPS แสดงให้เห็นว่าการยกตัวล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2 มิลลิเมตรต่อปี

“การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกก็ยังมีกระบวนการทางธรณีวิทยาที่ดำเนินต่อไป ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสูงของยอดเขาได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่ค่อนข้างสั้น” ศาสตราจารย์จิงเกน ได ผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้จากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีนกล่าว

ไดตั้งข้อสังเกตว่า เอเวอเรสต์เป็นภูเขาที่มีความผิดปกติ เนื่องจากยอดเขาสูงกว่าภูเขาอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงประมาณ 250 เมตร นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างอัตราการยกตัวของเอเวอเรสต์ในระยะยาวและระยะสั้น

บางส่วนของรอยเลื่อนระหว่างอินเดียและทิเบตนี้ไม่แตกร้าวมานานมากแล้ว อาจเป็นเวลาหลายศตวรรษหรือมากกว่านั้น นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ามีเป็นไปได้ที่จะมีแรงดึงจำนวนมากได้สะสมอยู่ในบริเวณเหล่านี้ และเมื่อเกิดการแตกร้าวในที่สุด ผลที่ตามมาจะเลวร้ายมาก

ต่างจากบริเวณเขาเอเวอเรสต์ที่เกิดแผ่นดินไหวเมกะทรัสต์ ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 8 แม็กนิจูดบ่อยกว่า โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 ครั้งต่อ 100 ปี และทุกครั้งที่เกิดรอยร้าวหรือแผ่นดินไหวจะทำให้เอเวอเรสต์มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นเอเวอเรสต์จึงมีความสูงมากกว่าภูเขารอบ ๆ

นอกจากนี้ นักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่ากลไกอื่น ๆ เช่น ความเครียดของเปลือกโลกที่ทำให้เกิดวัฏจักรแผ่นดินไหว และการสูญเสียธารน้ำแข็งบนภูเขา ก็อาจทำให้เกิดการยกตัวได้เช่นกัน


ที่มา: The ConversationThe GuardianThe Washington Post

‘เอเวอเรสต์’ สูงขึ้นเรื่อย ๆ อิทธิพลจากแม่น้ำกัดเซาะ-แผ่นดินไหว