‘ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์’ ทำขยะพุ่ง รีไซเคิลไม่ได้ ฝังกลบ-เผาทิ้งอย่างเดียว

‘ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์’ ทำขยะพุ่ง รีไซเคิลไม่ได้ ฝังกลบ-เผาทิ้งอย่างเดียว

“ฟาสต์เดโค” (Fast Deco) เป็นชื่อเรียกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านราคาถูก ที่ถูกผลิตเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น ทำให้เกิด “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ตามมามากมาย

KEY

POINTS

  • ฟาสต์เดโค” (Fast Deco) เป็นชื่อเรียกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านราคาถูก ที่ถูกผลิตเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น และสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างกัน
  • ขยะเฟอร์นิเจอร์ในฝรั่งเศสมีมากกว่า 500 ล้านชิ้น เป็นขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่สามารถรีไซเคิลหรือซ่อมแซมได้ และถูกเผาในเตาเผาขยะหรือฝังกลบ
  • ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทำลายระบบนิเวศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนต่างพยายามหลีกเลี่ยง “ฟาสต์แฟชั่น” กันมากขึ้น เพราะรู้ดีว่าอุตสาหกรรมนี้ทำให้เกิด “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ตามมามากมาย แต่ในตอนนี้มีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายต่อโลกไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” หรือ “ฟาสต์เดโค” (Fast Deco)

ฟาสต์เดโค” (Fast Deco) เป็นชื่อเรียกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านราคาถูก ที่ถูกผลิตเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้สร้างขึ้นมาเลียนแบบเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง แต่มีอายุการใช้งานเพียงไม่นาน เพราะจะถูกแทนที่ด้วยคอลเล็กชันใหม่ ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว

 

“ฟาสต์เดโค” เติบโต คนแต่งบ้านบ่อย

จากรายงานล่าสุดของสมาคมสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสระบุว่า อุตสาหกรรมฟาสต์เฟอร์นิเจอร์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพ้ฟาสต์แฟชั่น เพราะทั้งฟาสต์เดโคและฟาสต์แฟชั่นมีรูปแบบธุรกิจเดียวกัน โดยรูปแบบธุรกิจนี้มักจะเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่แตกแบรนด์ออกมาทำสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น Zara Home, H&M HOME และ Shein

ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ก็มีบทบาทเช่นกัน โดยใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความต้องการและเพิ่มยอดขาย Ikea ยักษ์ใหญ่ของสวีเดน เพิ่มสินค้าใหม่ประมาณ 2,000 รายการต่อปี ส่วน Maisons du Monde บริษัทเฟอร์นิเจอร์ของฝรั่งเศส เสนอสินค้าใหม่ 3,000 รายการต่อปี ตอบสนองความต้องการและความปรารถนาในการตกแต่งทุกประการ

นอกจากนี้ Amazon และ Cdiscount ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ รวมถึง Shein และ Temu แพลตฟอร์มฟาสต์แฟชั่นของจีนก็เข้าสู่ตลาดนี้ด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง กระตุ้นให้เกิดการซื้อของตามอารมณ์ได้ตลอดเวลา

“เห็นได้ชัดว่ายักษ์ใหญ่ของวงการฟาสต์แฟชั่นและอีคอมเมิร์ซ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเสริมสร้างกระแสนี้เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ทั้งการจัดจำหน่ายแบบทั่วถึง (Intensive Distribution) และเคลียร์สต๊อก ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโลก” พอลลีน เดบราแบนเดียร์ ผู้ประสานงานโครงการ Zero Waste France กล่าว

อีกทั้งใช้ประโยชน์จากพลังโซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ด้วยคลิปวิดีโอประเภทแกะกล่อง รีวิว และพาชอปปิ้ง เพื่อกระตุ้นให้คนอยากได้สินค้า ขณะเดียวกันแบรนด์ก็จัดใช้วันหยุดและเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันวาเลนไทน์และวันแม่ ออกคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ  หรือจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อของแบบไม่ได้วางแผนไว้ก่อน (Impulsive Buying) ที่เน้นอารมณ์และความต้องการชั่วครู่ จนกลายเป็นการบริโภคที่มากเกินไป

พลวัตของการบริโภคมากเกินไปนี้ ทำให้การตกแต่งบ้าน กลายเป็นตู้โชว์ชั่วคราวที่หมุนเวียนเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ตามมาอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

“ขยะเฟอร์นิเจอร์” เพิ่มขึ้น เพราะ “ฟาสต์เดโค”

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนต่างอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีเวลาตกแต่งบ้านใหม่ แต่ละพื้นที่ต้องมีฟังก์ชันเพิ่มมากขึ้น ห้องนั่งเล่นกลายเป็นสำนักงาน ห้องนอนกลายเป็นห้องออกกำลังกาย และระเบียงกลายเป็นป่าในเมือง อีกทั้งการตกแต่งบ้านใหม่ยังช่วยสร้างบรรยากาศใหม่ ๆ และเป็นการบำบัดจิตใจ ปรับตัวในช่วงการกักตัว

ผลักดันให้ตลาดฟาสต์เดโคเติบโตขึ้น ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Les Échos หนังสือพิมพ์การเงินของฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่าระหว่างปี 2017-2022 จำนวนสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่วางจำหน่ายในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นถึง 88% ทำให้ตลาดมีมูลค่าประมาณ 26,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 953,109 ล้านบาท

การตกแต่งบ้านใหม่กลายเป็น “นิวนอร์มอล” มาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวฝรั่งเศส 46% ยังคงเปลี่ยนของตกแต่งบ้านในห้องนั่งเล่นอย่างน้อยปีละครั้ง ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยระหว่างปี 2014-2020 ขยะเฟอร์นิเจอร์ในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จาก 270 ล้านชิ้น กลายเป็นมากกว่า 500 ล้านชิ้น เฉลี่ยแล้วทุกครัวเรือนในฝรั่งเศสซื้อของตกแต่งใหม่ 17 ชิ้นทุกปี

ปรกติแล้ว กว่าที่เฟอร์นิเจอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวนานอยู่ได้หลายสิบปี แต่ในตอนนี้เฟอร์นิเจอร์เริ่มมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 5 ปี และความทนทานที่ลดลง มาพร้อมกับการรีไซเคิลที่ยากกว่าเดิม เพราะในตอนนี้ของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์มักทำจากวัสดุผสม ทำให้การรีไซเคิลมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้สินค้าจำนวนมากเหล่านี้ลงเอยในหลุมฝังกลบ ทำให้วิกฤตขยะทวีความรุนแรงขึ้น 

ในปี 2023 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวบรวมขยะเฟอร์นิเจอร์ได้ 1.3 ล้านตัน เฉลี่ยคิดเป็นคนฝรั่งเศสสร้างขยะประมาณ 18.7 กิโลกรัมต่อคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่สามารถรีไซเคิลหรือซ่อมแซมได้ และถูกเผาในเตาเผาขยะหรือฝังกลบ

แม้จะมีการซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มมากขึ้น แต่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของฝรั่งเศสกลับไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้ เพราะผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาและปริมาณได้ ทำให้ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมนี้ลดลงถึง 25%

นอกจากนี้ฟาสต์เดโคยังทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่ป่าดิบ เพื่อนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น  การกระทำที่ไม่ยั่งยืนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง มีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทำลายระบบนิเวศ

“เมื่อเผชิญกับภาวะตลาดอิ่มตัว ภาคอุตสาหกรรมการตกแต่งจึงเลือกที่จะเร่งอัตราการผลิตให้สูงขึ้นจนเกินพอดีสำหรับโลก โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันเสมอ นั่นคือ สร้างความต้องการจากความต้องการที่ผิวเผิน ซึ่งเราจำเป็นต้องควบคุมภาคการผลิตโดยด่วน เพื่อจำกัดการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป” ปิแอร์ คอนดามายน์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์การผลิตเกินจำเป็นของ Friends of the Earth France กล่าว


ที่มา: Euro NewsNSS Magazine