13 ต.ค. วันลดความเสี่ยงภัยพิบัติ สถิติ 7 พันเหตุการณ์ คร่าชีวิต 1.2 ล้านคน
ภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญต่อชุมชนทั่วโลก ตั้งแต่น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ และภัยแล้งไปจนถึงอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรมและโรคระบาด ผลที่ตามมาอาจร้ายแรง นำไปสู่การสูญเสียชีวิต เศรษฐกิจถดถอย และความวุ่นวายในระยะยาว
ตามข้อมูลของสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UN Office for Disaster Risk Reduction : UNDRR) ระบุว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้กลายมาเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภัยพิบัติในศตวรรษที่ 21 โดยระหว่างปี 2000 ถึง 2019 มีเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ถูกบันทึกไว้ 7,348 เหตุการณ์ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1.23 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อ 4.2 พันล้านคน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกประมาณ 2.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสองทศวรรษก่อนหน้า
ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับระหว่างปี 1980 และ 1999 ที่มีภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติ 4,212 ครั้งทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 1.19 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อผู้คน 3.25 พันล้านคน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1.63 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดังนั้น การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction: DRR) จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดผลกระทบเหล่านี้ และสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่นซึ่งสามารถต้านทานและฟื้นตัวจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้
เสริมพลังให้คนรุ่นต่อไป
ในปี 1989 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันแสดงความตระหนักในระดับนานาชาติถึงการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (International Day for Disaster Risk Reduction : IDDRR) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมระดับโลกในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและความยืดหยุ่น
โดยแนวคิดสำหรับวัน IDDRR ปี 2024 เน้นที่หัวข้อ "การเสริมพลังให้คนรุ่นต่อไปเพื่ออนาคตที่ยืดหยุ่น" (Empowering the Next Generation for a Resilient Future) เน้นย้ำถึงบทบาทของการศึกษาในการปกป้องและเสริมพลังให้เยาวชนเพื่อสร้างอนาคตที่ปราศจากภัยพิบัติ
โดยแนวคิดนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของกรอบความร่วมมือเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction) ปี 2015-2030 เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ใช้ประโยชน์จากภาคการศึกษาเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสำหรับเด็กวัยเรียน โดยลงทุนในโรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาที่ปลอดภัย และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมพลังให้เด็กและเยาวชนเพื่อมีส่วนสนับสนุนความพยายามในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและปกป้องตนเอง
คีย์แมสเซส
"อันโตนิโอ กูเตอร์เรส" เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ต้องได้รับการเสริมทักษะและความรู้เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้านทานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น
ชณะที่ "เปาลา อัลบริโต" รักษาการ SRSG และผู้อำนวยการ UNDRR กล่าวว่า การตัดสินใจในวันนี้จะกำหนดภัยพิบัติในอนาคต เรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือคนรุ่นต่อไปในการเสริมสร้างพลังให้พวกเขาลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
"แคเธอรีน รัสเซลล์" ผู้อำนวยการบริหารของ UNICEF กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นเพียงเหยื่อที่ไร้ประโยชน์ พวกเขามีบทบาทเชิงรุกในการเป็นผู้นำ ร่วมมือและร่วมกันสร้างแนวทางลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างไร?
การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเกี่ยวข้องกับแนวทางที่เป็นระบบในการระบุ ประเมิน และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยบันทึกแนวคิดสำหรับวันนานาชาติเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (IDDRR) ปี 2024 ระบุว่า
- เด็กและเยาวชนทุกคนสมควรได้รับการปกป้องจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะที่โรงเรียน
- โรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมการป้องกันภัยพิบัติและส่งเสริมให้เยาวชนเข้าใจและดำเนินการกับความเสี่ยงที่พวกเขาเผชิญ
- ระบบเตือนภัยล่วงหน้าควรเข้าถึงได้โดยเด็กและเยาวชน เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
- การสร้างความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนสามารถช่วยปกป้องครอบครัวและชุมชนทั้งหมดได้
- ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีนโยบาย DRR ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหมายถึงการบูรณาการความต้องการ ความเปราะบาง และแนวคิดของเด็กเข้ากับแผนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมด้วยทรัพยากรที่อุทิศให้กับการนำไปปฏิบัติ
- DRR ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางมีพื้นฐานมาจากหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ
- โรงเรียนควรเป็นสถานที่เรียนรู้ที่ปลอดภัย ซึ่งเด็กและเจ้าหน้าที่ได้รับการปกป้องจากความเสี่ยงทั้งหมด
- กรอบความปลอดภัยโรงเรียนที่ครอบคลุมช่วยให้รัฐบาลมีวิธีในการปกป้องเด็กและโรงเรียนจากความเสี่ยงและอันตรายทั้งหมดในภาคการศึกษา
- เด็กและเยาวชนมีสิทธิได้รับการปกป้องในโรงเรียน ไม่ให้การศึกษาของพวกเขาหยุดชะงัก และมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ส่งผลต่ออนาคตของพวกเขา
- ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เด็กมากกว่า 1 พันล้านคนต้องสูญเสียชีวิตจากภัยพิบัติ โดยโรงเรียนมากกว่า 80,000 แห่งได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย สิทธิเด็กต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้โรงเรียนปลอดภัย #safechildrensafeschools
- เรียกร้องให้รัฐบาลและพันธมิตรดำเนินการทันทีเพื่อมุ่งมั่นในการนำกรอบความปลอดภัยโรงเรียนที่ครอบคลุมมาใช้เพื่อปกป้องเด็ก นักการศึกษา เจ้าหน้าที่ และโรงเรียน เราต้องใช้แนวทางป้องกันอันตรายหลายประเภทเพื่อความปลอดภัยของโรงเรียน
เด็กเผชิญภัยพิบัติมากกว่าคนยุคก่อน 6 เท่า
เด็กในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องเผชิญกับน้ำท่วมและภัยพิบัติทางสภาพอากาศมากกว่าคนยุคของปู่ย่าตายายถึง 6 เท่า ภัยพิบัติที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นทำให้เด็ก ๆ รับมือยากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทวีความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเติบโต
น้ำท่วมและดินถล่มที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นยางิได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในประเทศเวียดนาม เมียนมา ลาว และไทย ทำให้เด็กเกือบ 6 ล้านคนได้รับผลกระทบในการเข้าถึงน้ำสะอาด การศึกษา การรักษาพยาบาล อาหาร และที่พักพิง ซึ่งทำให้ชุมชนที่ยากจนอยู่แล้วต้องเผชิญกับวิกฤติที่หนักขึ้น
นางจูน คูนูกิ ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นยางิเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียปีนี้ ทำให้ฤดูฝนมีปริมาณฝนตกหนักยิ่งขึ้น ส่งผลให้แม่น้ำล้นตลิ่งและเกิดดินถล่มรุนแรง ขณะนี้การประเมินความเสียหาย พบว่า โรงเรียนกว่า 850 แห่งและศูนย์สุขภาพมากกว่า 550 แห่งถูกทำลาย
“เด็กและครอบครัวกลุ่มเปราะบางต้องเจอกับผลกระทบที่หนักที่สุดจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ความสำคัญเร่งด่วนตอนนี้คือการฟื้นฟูบริการพื้นฐาน เช่น น้ำสะอาด การศึกษา และการรักษาพยาบาล สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ เด็กกลุ่มเปราะบางมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด"
ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เมื่อเทียบกับ เมียนมา ลาว และไทย โดยประชาชนประมาณ 3 ล้านคน รวมถึงเด็กจำนวนมาก ขาดน้ำดื่มที่ปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค เด็กประมาณ 2 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การดูแลด้านจิตใจ และโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียนได้
ในเมียนมา ความไม่สงบและผลกระทบร้ายแรงจากพายุไต้ฝุ่นยางิทำให้ชุมชนที่ต้องพลัดถิ่นจากความขัดแย้งอยู่แล้วต้องเผชิญกับวิกฤตที่เลวร้ายลง มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 170 ราย และประชาชนกว่า 320,000 คนต้องอพยพ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน การสื่อสาร และไฟฟ้าได้รับความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่ภาคกลางของเมียนมา
ภาคเหนือของไทยมีฝนตกหนักและน้ำท่วมได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนของเด็กเกือบ 64,000 คน และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก โดยโรงเรียนบางแห่งได้รับความเสียหายทั้งหมดและครูต้องใช้วิธีการเรียนการสอนออนไลน์และจัดส่งสื่อการเรียนให้กับนักเรียนที่บ้าน
ใน สปป.ลาว น้ำท่วมรุนแรงใน 8 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อเด็กประมาณ 60,000 คน โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้รับความเสียหาย รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนทีได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ก่อนหน้าแล้ว