‘ไฟป่า’ เกิดถี่ขึ้น รุนแรงกว่าเดิม คร่าชีวิตคนเพิ่มนับหมื่น เพราะ ‘โลกร้อน’

‘ไฟป่า’ เกิดถี่ขึ้น รุนแรงกว่าเดิม คร่าชีวิตคนเพิ่มนับหมื่น เพราะ ‘โลกร้อน’

ผลการศึกษาวิจัยใหม่ชี้ มลพิษจากควันจากไฟป่าคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้น 12,000 รายต่อปี โดย “ภาวะโลกร้อน” ทำให้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการสูดดมควันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในออสเตรเลีย อเมริกาใต้ ยุโรป และบางส่วนของเอเชีย

KEY

POINTS

  • ผลการศึกษาวิจัยใหม่ชี้ มลพิษจากควันจากไฟป่าคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้น 12,000 รายต่อปี
  • “ภาวะโลกร้อน” ทำให้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการสูดดมควันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในออสเตรเลีย อเมริกาใต้ ยุโรป และบางส่วนของเอเชีย
  • “ไฟป่า” ทั่วโลกมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี แสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้กำลังเข้าสู่วัฏจักรสภาพอากาศโหดร้ายกว่าเดิม ทั้งเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

ควันไฟ” แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้โรคหัวใจและปอดแย่ลงได้ บางครั้งอาจกระตุ้นให้สุขภาพทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เราต้องสัมผัสควันซ้ำแล้วซ้ำ ทั้งจากควันรถ ควันบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ และ “ฝุ่น PM2.5” ที่มาในทุกปลายปี และจะยังคงต้องเจอบ่อยกว่าเดิม เพราะ “ภาวะโลกร้อน

ผลการวิจัยสองชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change วิเคราะห์ผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศที่มีต่อไฟป่าเมื่อเทียบกับการกระทำอื่น ๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า โดยผลการศึกษาชิ้นแรกที่วิจัยแบบจำลองพบว่า ภาวะโลกร้อนพบว่าภาวะ “โลกร้อน” ทำให้พื้นที่บนโลกถูกเผาไหม้จาก “ไฟป่า” มากขึ้น 

อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากควันจากไฟป่ามากขึ้น โดยเฉพาะในออสเตรเลีย อเมริกาใต้ ยุโรป และบางส่วนในเอเชีย ซึ่งอาจคร่าชีวิตผู้คนสูงขึ้นกว่า 12,000 รายต่อปีจากการสูดดมควัน 

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักรและเบลเยียมระบุว่า ระหว่างปี 2003-2019 ภาวะโลกร้อนทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นเกือบ 16% โดยเฉพาะในออสเตรเลีย ไซบีเรีย และทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกา 

สวนทางกับกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและทุ่งหญ้าสะวันนา เพื่อสร้างถนนหรือทำการเกษตร ทำให้พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ทั้งหมดลดลง 19% แม้ว่ากิจกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงภูมิประเทศจะช่วยลดพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ของโลก แต่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของดร.แช ยอน ปาร์ค แห่งสถาบันแห่งชาติเพื่อการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น ประมาณการว่าในยุค 2010 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100,000 คนต่อปี จากการหายใจเอาควันจากไฟป่าที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้

ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจว่าภาวะโลกร้อนส่งผลต่อการเสียชีวิตเหล่านี้อย่างไร เพราะแม้ว่าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น และความชื้นที่ลดลงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ แต่การแทรกแซงโดยตรงอื่น ๆ ของมนุษย์ เช่น การทำลายป่าและทุ่งหญ้าสะวันนา ก็ทำให้พื้นที่ที่สามารถเผาไหม้หรือหยุดยั้งการลุกลามของไฟลดลง

เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิจัยได้พิจารณาแบบจำลองของพืชพรรณและไฟป่าทั่วโลกสามแบบภายใต้สภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และเปรียบเทียบกับแบบจำลองที่กำจัดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

แม้ว่าผลลัพธ์จะแตกต่างกันไป แต่ผู้เขียนจาก 8 ประเทศ รวมทั้งสหราชอาณาจักร สหรัฐ เยอรมนี และจีน พบว่าในทุกกรณี ภาวะโลกร้อนทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการหายใจเอา PM2.5 จากไฟป่าเพิ่มขึ้น โดยในบางภูมิภาค อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้เพิ่มขึ้น ในขณะที่บางภูมิภาค ความชื้นในอากาศลดลง

รายงานยังระบุว่า ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ประเมินความผลกระทบต่อสุขภาพจากไฟป่าต่ำเกินไป เนื่องจากความเป็นพิษของอนุภาคที่มาจากไฟรุนแรงกว่าจากแหล่งอื่น

ศ.ฮิลารี บัมบริก ผู้อำนวยการศูนย์ระบาดวิทยาและสุขภาพประชากรแห่งชาติแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่าประชาชนหลายล้านคนในออสเตรเลียต้องเผชิญกับมลพิษจากควันในระดับอันตรายและยาวนานระหว่างไฟป่าครั้งใหญ่ในช่วงฤดูร้อนปี 2019 และ 2020 ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวสำหรับหลาย ๆ คน

ไฟป่า” ทั่วโลกมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี แสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้กำลังเข้าสู่วัฏจักรสภาพอากาศโหดร้ายกว่าเดิม ทั้งเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยไฟป่าเหล่านี้เป็นการระบายคาร์บอนที่สะสมไว้เป็นเวลานานออกมา และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกที่มีควันมากขึ้น จำเป็นการติดตามคุณภาพอากาศ อีกทั้งเฝ้าระวังปัญหาขภาพในระยะยาวที่อาจแย่ลงจากมลพิษทางอากาศ รวมถึงหาวิธีป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย การกรองอากาศ และการจัดการการระบายอากาศในบ้านและอาคาร เพื่อลดการสัมผัสควันประเภทต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องยุติการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก พร้อมต้องหยุดการเผาไหม้ป่าฝนเขตร้อน และการเผาไหม้ทางการเกษตรทั่วโลกด้วย เพราะวิธีการเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศและสุขภาพของคนทั่วโลกอย่างมาก และสนับสนุนการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง


ที่มา: The ConversationThe Guardian