E-waste สร้างรายได้-ลดมลพิษ หากกำจัดอย่างถูกวิธี

E-waste สร้างรายได้-ลดมลพิษ หากกำจัดอย่างถูกวิธี

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะที่กำจัดได้ยากหากต้องการแยกส่วนประกอบอย่างละเอียด แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากขยะประเภทนี้ แม้ไม่มีเครื่องมือแยกขยะที่ทันสมัย และสามารถทำกำไรได้มหาศาล

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทิจจานี อาบูบาการ์ ชาวไนจีเรียที่ทำธุรกิจรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำกำไรได้มากมายแม้บริษัทของเขาไม่มีเครื่องมือแยกชิ้นส่วนขยะที่ทันสมัย เพราะเน้นส่งชิ้นส่วนบางส่วนไปขายในประเทศที่ร่ำรวยแทน

อาบูบาการ์ใช้อาคารคอนกรีตโทรม ๆ แห่งหนึ่งเป็นที่ทำงาน พนักงานที่นี่จะมีอาวุธคู่กายคือไขควงและค้อนเพื่อใช้ทุบโทรศัพท์เก่า ๆ คล้ายทุบลูกวอลนัต จากนั้นพนักงานจะดึงแผงวงจรสีเขียวออกมา แล้วโยนไปกองรวมกันไว้

E-waste สร้างรายได้-ลดมลพิษ หากกำจัดอย่างถูกวิธี

บลูมเบิร์กระบุว่า แผงวงจรดังกล่าวมีทองแดง นิกเกิล ทอง และโลหะมีค่าชนิดอื่น ๆ ประกอบอยู่ ซึ่งการแยกโลหะเหล่านี้ออกมายากกว่าการทุบโทรศัพท์มาก เพราะต้องใช้เครื่องที่มีความซับซ้อนและมีราคาแพง และใช่ว่าจะมีโรงงานใดในแอฟริกาที่สามารถทำแบบนั้นได้ อาบูบาการ์จึงเลือกส่งแผงวงจรไปยังโรงงานรีไซเคิลในต่างประเทศที่มีอุปกรณ์ที่ดีกว่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและจีน หรืออยู่ในประเทศที่ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า E-waste คือขยะจำพวกอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ที่มีปลั๊กไฟหรือแบตเตอรี่ รวมถึงคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เกมคอนโทรลเลอร์ และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ที่เราใช้งานและทิ้งไปจนขยะเหล่านี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

รายงาน The global E-waste Monitor 2024 เปิดเผยว่า ในปี 2022 โลกสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 62,000 ล้านกิโลกรัมหรือราว 62 ล้านตัน ทำให้การจัดการกับขยะเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น เพราะ E-waste เป็นขยะรูปแบบหนึ่งที่สร้างปัญหาให้กับสังคม เช่น ถ้าทิ้งลงในหลุมฝังกลบ สารเคมีที่เป็นพิษอาจรั่วไหลลงสู่ดินและน้ำ และแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สามารถติดไฟได้อาจทำให้สถานที่ฝังกลบเกิดไฟไหม้ได้

รายงานเผยด้วยว่า ปริมาณขยะอิเล็กอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกยังไม่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด ในปี 2022 โลกสามารถรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เพียง 22.3% หรือราว 13.8 ล้านตัน จากปริมาณขยะ E-waste ทั้งหมด 62 ล้านตัน ส่วนขยะ E-waste ที่ไม่ได้รีไซเคิลจะถูกทิ้ง เผา หรือมักถูกลืมไว้ที่บ้านหรือที่ทำงาน

นอกจาก E-watse สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว การกำจัดอย่างไม่ถูกต้องยังถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรมหาศาล เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านั้นมีวัสดุที่มีค่าจำนวนมาก เช่น ทองแดงที่อยู่ในแผงวงจรและสายเคเบิล รวมถึงแร่ลิเทียม โคบอลต์และนิกเกิลในแบตเตอรี่ ด้านยูเอ็นเผยว่า ปัจจุบันโลกทิ้งวัสดุที่มีค่าในรูปขยะ E-waste เป็นมูลค่ามากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์ในทุกๆ ปี

E-waste สร้างรายได้-ลดมลพิษ หากกำจัดอย่างถูกวิธี

E-waste ขยะสร้างกำไร

ไนจีเรียเป็นแหล่งรวมเครือข่ายคนเก็บขยะหลายหมื่นรายที่ไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่ได้เสียภาษี เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนคนเก็บขยะ E-waste ในไนจีเรียจะเก็บโทรศัพท์ แล็ปท็อป ไวไฟเราเตอร์ และเศษขยะดิจิทัลอื่น ๆ แล้วนำไปขายให้กับนายหน้าท้องถิ่นอย่างอาบูบาการ์

อาบูบาการ์จะทำหน้าที่รับซื้อ-ขายขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ แต่โดยส่วนตัวเขาเชี่ยวชาญกำจัดขยะโทรศัพท์มือถือ เพราะมีซัพพลายรับซื้อมากมาย และในประเทศกำลังพัฒนา โทรศัพท์กลายเป็นขยะรีไซเคิลธรรมดาเหมือนกับเสื้อยืดทั่วไป เนื่องจากทั่วโลกทิ้งโทรศัพท์มือถือมากกว่า 5,000 ล้านเครื่องในแต่ละปี

แม้ไม่มีใครทราบว่า E-waste ส่งออกจากประเทศยากจนไปประเทศร่ำรวยมากเพียงใด แต่ธุรกิจของอาบูบาการ์บ่งชี้ว่าธุรกิจรีไซเคิลขยะเหล่านี้เติบโตอย่างมาก

อาบูบาการ์บอกว่า ธุรกิจของเขาทำงานร่วมกับคนหลายร้อยคน และทำให้เขาร่ำรวยมากพอที่จะบริจาคหนังสือเรียนและวัวให้กับหลายครอบครัวที่ยากจนในจังหวัดบ้านเกิดของตนได้

นอกจากนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย ทำให้บริษัทหลายแห่งอย่างบริษัทของอาบูบาการ์ มีส่วนช่วยให้ขยะเหล่านี้ถูกแยกออกมาจากหลุมฝังกลบ ช่วยลดความจำเป็นในการขุดแร่ใหม่ และสามารถสร้างงานที่จำเป็นได้หลายพันตำแหน่ง แต่น่าเสียดายที่ชิ้นส่วนขยะบางชิ้นไม่ได้รับการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง

บลูมเบิร์กระบุว่า ขณะที่แผงวงจรได้นำไปรีไซเคิล ชิ้นส่วนอื่น ๆ ของอุปกรณ์ดิจิทัลมักถูกทิ้งด้วยวิธีหยาบ ๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษ อย่างสายไฟและสายเคเบิลจะถูกเผาในกองไฟที่เปิดโล่งทำให้เกิดการปล่อยมลพิษ ส่วนแบตเตอรี่ก็ถูกทิ้งในกองขยะ นอกจากจะก่อให้เกิดไฟไหม้แล้ว อาจทำให้สารเคมีอันตรายรั่วไหลออกมาได้ ส่วนแรงงานที่ทำหน้าที่เผาขยะและทิ้งขยะมีรายได้เพียงสองสามดอลลาร์ต่อวัน และต้องทำงานโดยปราศจากความปลอดภัยท่ามกลางควันพิษและสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน

ต้องเพิ่มคุณภาพชีวิตคนเก็บขยะ

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์กเผยว่า ยังมีแนวทางอีกมากมายที่ช่วยเพิ่มประโยชน์จากการรีไซเคิล E-waste พร้อมกับลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ 

เนื่องจากปัจจุบันคนเก็บขยะส่วนใหญ่ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่มีการเสียภาษีและไม่มีการควบคุม ดังนั้น การเพิ่มพูนทักษะ ความสามารถ และค่าแรง พร้อมมีมาตรการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำงานของคนกลุ่มนี้ อาจสร้างประโยชน์ให้แก่คนทุกคนได้ ซึ่งในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพเก็บขยะรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ในโคลอมเบีย รัฐบาลจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเก็บขยะให้กับคนเก็บขยะในหลายสิบเมือง เพื่อเป็นรายได้เพิ่มเติมจากการขายวัสดุรีไซเคิล

 

อ้างอิง: Bloomberg