เมื่อ "ทรัมป์" ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน แนวคิดความยั่งยืนประธานาธิบดีสหรัฐ
ชัยชนะของทรัมป์อาจจะเป็นการสนับสนุนบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกกฎหมายปี 2016 ที่กำหนดให้บริษัทน้ำมัน และก๊าซต้องตรวจสอบ และจำกัดการรั่วไหลของมีเทนจากบ่อน้ำมัน และการดำเนินงานอื่นๆ
ในปี 2018 ขณะที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ก็กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก หลังจากที่เขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการประเมินสภาพอากาศแห่งชาติของรัฐบาล และเมื่อถูกถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เลวร้าย ทรัมป์กล่าวว่า "ผมไม่เชื่อ"
จากนั้น ระหว่างการดีเบตกับ "โจ ไบเดน" เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2024 โดยตอนแรก "ทรัมป์" เหลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เมื่อถูกกดดัน เขาหยิบยกน้ำ และอากาศที่สะอาดมาใช้แทนการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่า
“ผมต้องการน้ำที่สะอาด และต้องการอากาศที่สะอาด แล้วสหรัฐก็มีสิ่งเหล่านี้ เรามี H2O เรามีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา เราก็ทำได้ทั้งๆ ที่สหรัฐใช้พลังงานทุกประเภท ทุกรูปแบบ ทุกอย่าง ที่สำคัญในช่วงสี่ปีที่ผมดำรงตำแหน่ง ผมกลับมีตัวเลขด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
นอกจากนั้น ระหว่างที่ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับ WPXI เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2024 เมื่อถูกถามถึงการเข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และความร่วมมือระหว่างประเทศ เขากล่าวว่า สหรัฐอเมริกาจะต้องออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง เพราะมันเป็นการฉ้อโกง เราจ่ายเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ประเทศอื่นไม่ต้องจ่ายอะไรเลย จีนไม่จ่ายอะไรเลย ... มันเป็นข้อตกลงข้างเดียวที่ไร้สาระ
“ทรัมป์” และพรรครีพับลิกันมีการกำหนดแคมเปญที่มีการคัดค้านนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) โดยอ้างถึงผลกระทบเชิงลบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจกับจีน
แพลตฟอร์มรีพับลิกันมีแนวทางที่จะ "เน้นการผลิตใช้เองในประเทศ" เพื่อลดการนำเข้าจากจีน ภายใต้แนวคิด “นำห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญกลับบ้าน” (Bring Home Critical Supply Chains) ให้ความสำคัญกับการซื้อสินค้าในอเมริกา จ้างคนอเมริกัน และจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านการผลิต และสร้างเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ตอนนี้เขาคือ ผู้ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 หลายคนโดยเฉพาะนักสิ่งแวดล้อมเกิดความกังวลว่า แนวทางของเขาที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนจะส่งผลเสียต่อโลก
แนวทางของ “ทรัมป์” ต่อความยั่งยืนมีรากฐานมาจากการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรักษาความเป็นอิสระด้านพลังงาน โดยนโยบายของเขาจะลดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ในเดียวกันก็ส่งเสริมความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยตลาด การสนับสนุนการยกเลิกกฎระเบียบ และการขยายตัวของเชื้อเพลิงฟอสซิลในอดีตของทรัมป์บ่งชี้ว่า นโยบายด้านพลังงานของเขาจะยังคงให้ความสำคัญกับภาคส่วนพลังงานแบบดั้งเดิมต่อไป
พระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อ (IRA) และพระราชบัญญัติ CHIPS (Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act) ในการเสริมสร้างการผลิต การออกแบบ และการวิจัย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ อาจยังคงมีผลบังคับใช้ แต่อาจจะเน้นที่นโยบายอุตสาหกรรมมากกว่ามาตรการด้านสภาพอากาศที่เข้มงวด ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนอาจจะได้เห็นข้อกำหนดการรายงาน ESG ที่เข้มงวดน้อยลง
ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูปอเมริกา Agenda 47 ของทรัมป์ มีการระบุว่า "จะออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง" เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจปล่อยมลพิษ (ต่อหัว) มากที่สุดในโลกรองจากจีน การไม่เข้าร่วม Paris Agreement จะทำให้สามารถเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และชะลอการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ทรัมป์อาจจะลดพื้นที่ทางการเมืองสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และโคลัมเบีย รัฐบาลทรัมป์ได้ยกเลิก เพิกถอน หรืออยู่ระหว่างการย้อนกลับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 100 ข้อ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การปล่อยมลพิษสำหรับโรงไฟฟ้า การลดการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่าครึ่งหนึ่งของสหรัฐ และการถอนเหตุผลทางกฎหมายในการจำกัดการปล่อยปรอทจากโรงไฟฟ้า
อ้างอิง : Donald J. Trump, Factcheck.org, NPR
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์