ปี 2024 ทุบสถิติร้อนสุดในประวัติศาสตร์ เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 °C เป็นครั้งแรก

ปี 2024 ทุบสถิติร้อนสุดในประวัติศาสตร์ เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 °C เป็นครั้งแรก

นักวิจัยเผยปี 2024 อุณหภูมิของโลกกำลังจะทำลายสถิติ และกำลังจะทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนยุคอุตสาหกรรม เกินข้อตกลงปารีสที่มีการบันทึกไว้อย่างแน่นอน 

KEY

POINTS

  • นักวิทยาศาสตร์พบว่าอุณหภูมิโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึง 1.62 องศาเซลเซียส 
  • เป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่องเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก
  • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมเร็วขึ้นกว่าช่วงเวลาใด ๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์ โดยความเข้มข้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในเวลาเพียง 20 ปี

การประเมินโดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S คาดการณ์ว่าปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุด โดยแซงหน้าสถิติสูงสุดในปี 2023 และเป็นปีแรกที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่องเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเกณฑ์อุณหภูมิประเทศต่าง ๆ ที่ตกลงเอาไว้ว่าให้คุมให้ไม่เกินตาม “ข้อตกลงปารีส” นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าหากโลกร้อนเกินกว่านั้น โลกจะเผชิญกับความเสียหายที่ไม่อาจย้อนคืนได้

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้โลกร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งกว่าเดิม โดยพายุเฮอริเคนเฮเลนและมิลตัน รวมถึงน้ำท่วมในสเปน เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศเลวร้ายเพียงใดจากภาวะโลกร้อน

“เหตุการณ์เหล่านี้จะเลวร้ายลงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น”
ซาแมนธา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการ C3S กล่าว 

นักวิทยาศาสตร์พบว่าอุณหภูมิโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี ค.ศ. 1850-1900 ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึง 1.62 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ เดือนตุลาคม 2024 เป็นเดือนตุลาคมที่ร้อนเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ รองจากเดือนตุลาคม 2023 โดยมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.65 องศาเซลเซียส ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 15 ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกได้แตะระดับต่ำสุดเป็นอันดับ 4 ในเดือนตุลาคม โดยอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 19% ขณะที่น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาแตะระดับต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในเดือนตุลาคม โดยอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 8%

แม้ปี 2024 จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถรักษาอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีส เพราะภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงปารีส จะต้องมีปีที่อุณหภูมิสูงกว่าหรือเท่ากับ 1.5 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 20 ปีขึ้นไป

แต่การที่โลกมีอุณหภูมิทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส แสดงให้เห็นว่า โลกของเรามี “แนวโน้ม” ที่จะร้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้เชี่ยวชาญ

ดร.เบอร์เกสกล่าวว่า ในตอนนี้เรายังไม่ได้เราละเมิดข้อตกลง แต่หากแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทศวรรษหน้า และความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันต่อไป โลกของเราก็จะไม่สามารถย้อนกลับได้ 

รายงานฉบับนี้ออกมาหนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุม COP29 ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีเกี่ยวกับสภาพอากาศของสหประชาชาติที่ประเทศต่าง ๆ จะมาร่วมกันเพื่อพยายามปรับปรุงแผนระดับชาติในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยจะจัดประชุมขึ้นที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน

รายงาน Emissions Gap ฉบับล่าสุดของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP พบว่าประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถบรรลุคำมั่นสัญญาที่จะลดควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2030 ได้ อีกทั้งเตือนว่าจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่าง 43% ภายในปี 2030 และ 60% ภายในปี 2035

ขณะที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก พบว่าความเข้มข้นของมลพิษที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 และยังพบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมเร็วขึ้นกว่าช่วงเวลาใด ๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์ โดยความเข้มข้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในเวลาเพียง 20 ปี ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นและสภาพอากาศเลวร้ายรุนแรงมากขึ้น

แม้ว่าโลกจะหยุดเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในวันพรุ่งนี้ อุณหภูมิโลกก็จะไม่ลดลงทันที เพราะมหาสมุทรและแผ่นดินจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจะยังคงอบอุ่นขึ้นต่อไป ส่งผลให้เกิดภัยแล้งกินเวลานานหลายฤดูกาล

“ความจริงก็คือ ทุก ๆ เศษเสี้ยวขององศามีความสำคัญ ยิ่งเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกได้เร็วเท่าไหร่ สภาพภูมิอากาศของเราก็จะคงที่เร็วขึ้นเท่านั้น”  ดร.เบอร์เกสกล่าว

ไดอานา อูร์เก-วอร์ซัตซ์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยยุโรปกลาง และรองประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสตามที่ได้ให้สัญญาไว้ จะถือเป็นเป็น “ข่าวร้ายมาก” สำหรับปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะสหรัฐเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิผลที่สุดในการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ คือความมุ่งมั่นในการปล่อยมลพิษทั่วโลก



ที่มา: CNNThe GuardianThe New York Times