'ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง' กระแสลมสีเขียวจะเปลี่ยนทิศ?

สวัสดีครับผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยชัยชนะตกเป็นของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน วันนี้ผมจึงอยากชวนทุกท่านมาพูดคุยถึงประเด็นและนโยบายด้าน ESG ของทรัมป์ การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47

อันเป็นสมัยที่สองของทรัมป์นี้ได้นำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนหลายประการ โดยทรัมป์เจ้าของสโลแกนดังอย่าง  “Make America Great Again” แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งในปี 2016 และได้ใช้มาอย่างต่อเนื่องตลอดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างปี 2017-2021 เป็นผู้นำที่มีภาพลักษณ์ที่มีจุดยืนที่อาจเรียกได้ว่า “ไม่สอดคล้อง” กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่าใดนัก

เริ่มด้วยจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารประเทศครั้งก่อน ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่ออกตัวสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างชัดเจน โดยในสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2016-2020 การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 30 % และเราอาจได้เห็นการยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนให้มีการผลิตน้ำมันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์เคยนำสหรัฐฯ “ถอนตัว” จากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ก่อนจะกลับเข้ามาในข้อตกลงนี้อีกครั้งในสมัยอดีต ปธน. โจ ไบเดน ถ้าทรัมป์ยังคงจุดยืนเช่นเดิมอยู่ และต้องการนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสอีกครั้ง นั่นหมายถึงการชะลอลงของการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการปรับเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ทรัมป์อาจยกเลิกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่สำคัญ รวมถึงกฎการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2026 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความโปร่งใสที่นักลงทุนใช้ในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ และการประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำได้ยากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านนโยบายสังคม รัฐบาลทรัมป์ในอดีตให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองสิทธิแรงงานและยังต่อต้านกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งทรัมป์อาจลดข้อบังคับด้านสิทธิแรงงานและจำกัดการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารแรงงาน เช่น ความไม่พอใจของพนักงาน และอาจเพิ่มข้อพิพาททางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อแรงงานโดยไม่เป็นธรรม ยังไม่นับนโยบายเรื่องการรับผู้อพยพ โดยในสมัยแรก ทรัมป์มีนโยบาย “การสร้างกำแพง (Build the Wall)” อีกทั้งอาจดำเนินการปิดพรมแดนด้วยการสร้างกำแพงกันผู้ลักลอบเข้าเมืองจากเม็กซิโกให้แล้วเสร็จ พร้อมยกระดับการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองให้เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม

ในมิติด้านการกำกับดูแลและผลกระทบต่อการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ครั้งดำรงตำแหน่งสมัยแรกนั้น รัฐบาลทรัมป์ได้ออกคำสั่งที่ทำให้กองทุนเกษียณอายุต่างๆ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการลงทุนด้าน ESG ทั้งยังต่อต้านแนวคิดด้านการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ซึ่งเปรียบเสมือนอีกหนึ่ง “เข็มทิศ” สู่ความยั่งยืน

โดยทรัมป์มีจุดยืนว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปจะสร้างอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่เราจะเห็นการลดกฎระเบียบด้าน ESG ที่เกี่ยวข้อง ในมุมหนึ่งการลดกฎระเบียบเหล่านี้อาจช่วยลดภาระธุรกิจได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอาจเป็นอุปสรรคแก่ธุรกิจเองหรือไม่

สหรัฐอเมริกาคือประเทศมหาอำนาจที่กำหนดทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก และการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์นำมาซึ่งความกังวลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ มีโอกาสไม่น้อยที่เราจะได้เห็นเชื้อเพลิงฟอสซิลกลับมามีบทบาทอีกครั้ง หรือแม้แต่กฎระเบียบด้าน ESG ที่ผ่อนปรนความเข้มงวดลง ความท้าทายจึงจะตกไปอยู่กับนักลงทุนและธุรกิจในประเทศต่างๆ รวมถึงในประเทศไทย ที่ได้พากเพียรสร้างผลลัพท์เชิงบวกมาเป็นเวลาหลายปี และคงไม่มีใครอยากเห็นความพยายามที่ผ่านมา “สูญเปล่า” ดังนั้น จับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะเราอาจจำต้องปรับตัวกับภูมิทัศน์ทางการเมืองสหรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การเดินทางสู่ความยั่งยืนยังคงราบรื่นครับ

\'ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง\' กระแสลมสีเขียวจะเปลี่ยนทิศ?