เกรตา ธันเบิร์ก ประท้วงอาเซอร์ไบจาน เป็นเจ้าภาพ COP29 'รัฐน้ำมันเผด็จการ'
เกรตา ธันเบิร์ก วิจารณ์ว่า อาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ใช้เหตุการณ์เหล่านี้เพื่อการล้างเขียว (Green Washing) การละเมิดสิทธิมนุษยชน และด้านสิ่งแวดล้อม เธอแย้งว่าการจัดการประชุมในประเทศเช่นนี้ทำลายความชอบธรรมของการประชุมสภาพภูมิอากาศ
การประชุมว่าด้วยสภาพอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP29 เปิดฉากขึ้นเมื่อวันจันทร์ในกรุงบากู เมืองหลวงของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่มีการขุดเจาะบ่อน้ำมันแห่งแรกของโลก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 พฤศจิกายน 2567) โดยมีผู้นำโลกราว 100 คนเดินทางเข้าร่วม
แต่ในอีกฟากหนึ่ง นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศชาวสวีเดน “เกรตา ธันเบิร์ก” และนักเคลื่อนไหวอีกหลายคน ชุมนุมกันในกรุงทบิลิซี เมืองหลวงประเทศจอร์เจีย (อยู่ในภูมิภาคระหว่างทะเลดำกับทะเลแคสเปียน ที่ประกอบด้วยประเทศอาร์มีเนีย, อาเซอร์ไบจาน, จอร์เจีย และส่วนหนึ่งของรัสเซียตอนใต้ ) เพื่อประท้วงการที่อาเซอร์ไบจานเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP29
ปัจจุบัน ธันเบิร์ก อายุ 21 ปี เธอเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวของเยาวชนทั่วโลก และเป็นที่รู้จักในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อสภาพภูมิอากาศอย่างไม่ลดละ โดยธันเบิร์กเริ่มได้รับความสนใจจากนานาชาติตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2018 เมื่อเธอเริ่มการประท้วงเดี่ยวเพื่อเรียกร้องการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศนอกอาคารรัฐสภาสวีเดนในสตอกโฮล์ม ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 15 ปี
COP อีกครั้ง ในประเทศผู้นำน้ำมัน
"ธันเบิร์ก" ได้วิพากษ์วิจารณ์การประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่จัดขึ้นในอาเซอร์ไบจาน โดยบอกว่า "เป็นอีกครั้งที่การประชุมสภาพภูมิอากาศของ COP จัดในรัฐน้ำมันเผด็จการ" และอธิบายว่าการเลือกสถานที่แบบนี้เกินกว่าจะยอมรับได้
"อาเซอร์ไบจานเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่มีประวัติการปราบปรามสิทธิมนุษยชนและนโยบายเผด็จการ จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาพภูมิอากาศ การประชุมในรัฐเผด็จการเช่นนี้มีแต่จะทำให้พวกเขาดูดีขึ้นโดยไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย"
คำวิจารณ์ของธันเบิร์กเกิดขึ้นในขณะที่อาเซอร์ไบจานได้ประกาศแผนพลังงานสะอาด และเธอระบุว่าเป็นเพียงการปิดบังความตั้งใจที่จะยังคงส่งออกน้ำมัน และก๊าซต่อไป
นอกจากนั้น เธอเรียกร้องให้ยุติการยอมรับรัฐเผด็จการผ่านการประชุมสภาพภูมิอากาศระดับนานาชาติ ในขณะเดียวกันเธอยังคงท้าทายผู้นำ และสถาบันทั่วโลกให้ดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประธานาธิบดีโต้ COP29 คนอยากร่วมกว่า 7 หมื่นคน
“อิลฮัม อาลีเยฟ” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน กล่าวในพิธีเปิดการประชุม World Leaders Climate Action Summit เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ว่า ภาคพลังงานน้ำมัน และก๊าซของอาเซอร์ไบจาน เริ่มการขุดเจาะน้ำมันในกรุงบากูเมื่อปี 1846 เป็นภาคอุตสาหกรรมน้ำมันแห่งแรกของโลก แต่การถูกตำหนิ และถูกเรียกว่า "รัฐน้ำมันเผด็จการ" จากคนบางกลุ่ม ก็ไม่เป็นธรรม และขาดความรู้ทางการเมือง
แม้จะมีการเรียกร้องให้บอยคอต COP29 ประธานาธิบดีอาลีเยฟก็ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า การประชุมสุดยอดนี้มีผู้เข้าร่วมลงทะเบียนถึง 72,000 คนจาก 196 ประเทศ
ในตอนท้าย เขาย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซอร์ไบจานต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสีเขียว พร้อมกับยอมรับความเป็นจริงของการพึ่งพาพลังงานน้ำมัน และก๊าซในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ประธานาธิบดีอาลีเยฟ กล่าวด้วยว่า ประเทศอาร์เมเนียยึดครองดินแดนของอาเซอร์ไบจานเกือบ 20% ในเขตนากอร์โน-คาราบัค เป็นเวลา 30 ปี กวาดล้างทางชาติพันธุ์ และการเนรเทศชาวอาเซอร์ไบจานกว่าหนึ่งล้านคน แต่ก็สามารถสร้างประเทศที่เข้มแข็งพร้อมเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง และนโยบายอิสระได้
"สี่ปีที่แล้วเราเฉลิมฉลองชัยชนะประวัติศาสตร์ในสงครามคาราบัคห์ครั้งที่สอง และหนึ่งปีที่แล้ว เราได้ฟื้นฟูอำนาจอธิปไตยของเราอย่างเต็มที่ตามกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้บนกระดาษเป็นเวลา 30 ปี เราได้นำมติเหล่านี้ไปปฏิบัติด้วยตนเอง ฟื้นฟูกฎหมายระหว่างประเทศ และความยุติธรรม และยุติการยึดครอง”
ธันเบิร์ก วิจารณ์ COP28 ดูไบ ข้อตกลงที่แทงข้างหลัง
ย้อนไปปีที่แล้ว COP28 จัดขึ้นที่ดูไบ "ธันเบิร์ก" ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการประชุมข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ "แทงข้างหลัง" ต่อประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด
ธันเบิร์กกล่าวหาผู้นำโลกว่า ใช้ข้อตกลง COP28 เป็น "ข้ออ้าง" เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการอย่างจริงจังต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เธอย้ำว่าข้อผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมยังไม่เพียงพอและไม่ตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของประเทศที่กำลังเผชิญกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง
การวิจารณ์ของธันเบิร์กเน้นย้ำถึงความต่อเนื่องในการต่อสู้เพื่อความก้าวหน้าอย่างมีความหมายในการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศระดับนานาชาติ แม้ว่าจะมีการบรรลุข้อตกลง เธอยืนยันว่าต้องมีความพยายามที่ทะเยอทะยานมากขึ้นเพื่อจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและปกป้องประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ในฐานะหนึ่งเสียงที่โดดเด่นที่สุดในขบวนการสภาพภูมิอากาศ ธันเบิร์กยังคงเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้นำทั่วโลกและผลักดันนโยบายสภาพภูมิอากาศที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง : Radio Free Europe/Radio Liberty, CBC
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์