การขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สภาวะโลกร้อน” เป็นหัวข้อหรือประเด็นที่นานาประเทศให้ความสำคัญ และหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างยาวนานมากกว่าหนึ่งทศวรรษ
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือสภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบทางลบต่อสรรพสิ่งบนโลกใบนี้อย่างมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ สิ่งที่มีชีวิตหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ตาม
ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ปรากฏในรูปของสภาพความแปรปรวนของอากาศ ไม่ว่าจะเป็น อากาศร้อนจัด อุณหภูมิหนาวจัด ฝนตกชุกผิดปกติ หรือสภาพความแห้งแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การดำรงอยู่ของพืชพรรณหรือสัตว์ป่า และอาจทำให้พืชพรรณหรือสัตว์ป่าบางชนิดหรือบางสายพันธุ์เกิดการสูญพันธุ์
การพูดคุยถึงหัวข้อหรือประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เริ่มต้นจากเวทีการประชุมระหว่างประเทศ และเวทีการพูดคุยภายในของแต่ละประเทศ
ประเด็นหลักที่มีการพูดคุยคือ เรื่องผลกระทบของสภาวะโลกร้อน มาตรการต่อสู้กับปัญหาสภาวะโลกร้อน และความร่วมมือของนานาประเทศในการต่อสู้กับปัญหาสภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ดี ในห้วงเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้ เราสามารถพบเห็นมาตรการต่างๆ ที่หลายฝ่ายและนานาประเทศนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มาตรการเหล่านี้สามารถพิจารณาได้หลากหลายมิติ โดยแต่ละมาตรการที่มีการขับเคลื่อนมีความแตกต่างกัน รวมถึงมีพัฒนาการที่แตกต่างกันด้วยดังนี้
1.มาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ซับซ้อน เป็นมาตรการที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถปฏิบัติหรือลงมือทำด้วยตนเองได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ในเขตป่าเสื่อมโทรม การคัดแยกขยะและนำกลับมาใช้ซ้ำ
การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด การขจัดการเผาเพื่อการเกษตรกรรม การลดการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเชื้อเพลิง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น
2.มาตรการจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียม เป็นมาตรการที่หลายประเทศนำมาปรับใช้ในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษ ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยน้ำเสีย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
หรือการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากสิ่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น หรือการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น การใช้รถใช้ถนนในช่วงเวลาเร่งด่วน การขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
3.มาตรการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมาตรการทางการเงินอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
เมื่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว จึงมีการปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิที่สามารถนำมาซื้อขายได้ โดยมีการกำหนดปริมาณขั้นสูงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม
หากใครปล่อยน้อยกว่าปริมาณที่กำหนดก็สามารถนำปริมาณส่วนต่างดังกล่าวนี้ไปทำการขายให้กับคนอื่นได้ และผู้ที่ปล่อยมากกว่าปริมาณที่กำหนดจะทำการซื้อสิทธิในการปล่อยมลภาวะเหล่านี้เพื่อชดเชยกับของตนเอง ปัจจุบันมีตลาดการซื้อขายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหลายประเทศ
4.มาตรการให้เงินอุดหนุนการจัดทำโครงการ เป็นมาตรการที่รัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินให้เงินอุดหนุนในรูปการให้เงินกู้หรือเงินให้เปล่า เพื่อจัดทำโครงการ หรือจัดให้มีแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหรือสภาวะโลกร้อน
เช่น การให้เงินสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำระบบโซล่าฟาร์มเพื่อใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
5.มาตรการเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กร เป็นมาตรการที่องค์กรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนดำเนินการเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมของบุคลากรภายในองค์กร และเพื่อทำให้เห็นว่าองค์กรมีความใส่ใจต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยมีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กรสำหรับเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การนำมาเศษวัสดุจากกระบวนการผลิตมาใช้ผลิตไฟฟ้าและนำไฟฟ้าไปใช้ภายในองค์กร เป็นต้น
มาตรการทั้งหลายข้างต้นถูกผลักดันจากนโยบายระหว่างประเทศ และนโยบายของรัฐบาลของแต่ละประเทศ ซึ่งการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับการแรงสนับสนุนจากตัวบทกฎหมาย
หรือกฎหมายเป็นบ่อเกิดของอำนาจให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชนสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ และการดำเนินมาตรการต่างๆ นั้นก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อองค์กรของตนเอง นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม
เช่น กฎหมายภาษีอากรกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษีอากรสำหรับกิจการที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กฎหมายการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการลงทุนในกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีโทษทางแพ่งและทางอาญาสำหรับผู้ที่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด เป็นต้น
ดังนั้น กฎหมายจึงมีสถานะเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินมาตรการ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมาตรการข้างต้นให้เกิดเป็นรูปธรรมคือ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในอนาคตผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎหมายจะมอบสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทนำในการรักษาสิ่งแวดล้อม.