ประเทศร่ำรวยต้องจ่าย ปีละ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ หลังถูกตีตราปล่อยคาร์บอนสูง

ประเทศร่ำรวยต้องจ่าย ปีละ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ หลังถูกตีตราปล่อยคาร์บอนสูง

ร่างข้อตกลงเสนอใน COP29 ให้มีตัวเลขเงินทุน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2035 เพื่อแทนที่การสนับสนุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2009 จากประเทศที่ร่ำรวย จำนวนเงินดังกล่าวควรมาจาก แหล่งที่หลากหลาย ทั้งภาครัฐและเอกชน

การประชุม COP29 หรือการประชุมภาคีที่ 29 ของอนุสัญญากรอบแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ได้รับการขนานนามว่าเป็น 'การประชุม COP ด้านการเงินสภาพภูมิอากาศ' โดยมีการเสนอร่างข้อตกลงการเงินฉบับใหม่เมื่อวานนี้ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 วันสุดท้ายสำหรับการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่ดำเนินมาตลอดเกือบสองสัปดาห์

เป้าหมายการเงินใหม่

เป้าหมายใหม่ หรือที่เรียกว่าเป้าหมายเชิงปริมาณใหม่รวม (NCQG) ถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์หลักของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เสนอให้ประเทศที่ร่ำรวยให้คำมั่นว่าจะให้เงินทุน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (250 billions) ช่วยประเทศที่มีความเปราะบางในการรับมือกับภาวะโลกร้อนและเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกซึ่งจะมาแทนที่เป้าหมายเดิมที่ให้ประเทศพัฒนาแล้วระดมทุนร่วมกันให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์ ที่กำลังจะหมดอายุในปี 2025

ทั้งนี้ ยอดเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ ที่เรียกร้องให้ภาคีทั้งหมดระดมทุนอย่างน้อย 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากทุกแหล่ง ทั้งแหล่งสาธารณะและเอกชน ภายในปี 2035 ซึ่งเป็นเป้าหมายการระดมทุนรวมทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด

อัตราปล่อยคาร์บอน

ประเทศร่ำรวยเป็นผู้ที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น เงินทุนนี้เป็นการแสดงความรับผิด เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เพราะบางประเทศมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% เท่านั้น แต่ต้องเผชิญการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง และสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานสะอาด

ทั้งนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก Green House Gases (GHGs) ที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยสถิติเกี่ยวกับการปล่อย CO2 ช่วงปี 2023 (หน่วยล้านเมตริกตัน) มีดังนี้

  • จีน 11.9 ล้านเมตริกตัน
  • สหรัฐอเมริกา 4.9 ล้านเมตริกตัน
  • อินเดีย 3 ล้านเมตริกตัน
  • รัสเซีย 1.8 ล้านเมตริกตัน
  • ญี่ปุ่น 0.98 ล้านเมตริกตัน
  • อิหร่าน 0.8 ล้านเมตริกตัน
  • ซาอุดีอาระเบีย 0.73 ล้านเมตริกตัน
  • อินโดนีเซีย 0.73 ล้านเมตริกตัน
  • เยอรมนี 0.59 ล้านเมตริกตัน
  • เกาหลีใต้ 0.57 ล้านเมตริกตัน

จีนอินเดียเหมาะเป็นผู้รับบริจาคหรือไม่?

ผู้แทนหลายคนมีความเห็นว่า จีนและอินเดียเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนอันดับต้น ๆ และไม่ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป

และจีนควรรับผิดชอบเพิ่มเติมในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่คนยากจนและเปราะบาง ขณะที่อินเดียไม่ควรมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เนื่องจากไม่มีปัญหาในการดึงดูดการลงทุน ผู้แทนบางคนกล่าว

การสนับสนุนจากธนาคารโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแบบพหุภาคีอื่นๆ ได้ประกาศเพิ่มเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางอย่างมาก โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 และระดมทุนเพิ่มจากภาคเอกชนอีก 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปในปี 2035

เสียงวิจารณ์

นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมตอบสนองต่อร่างฉบับใหม่นี้อย่างรวดเร็ว บางคนแสดงความโกรธและความผิดหวังโดยการติดกระดาษบนใบหน้าหรือหน้าผากที่มีข้อความว่า “จ่ายเงิน!”

"เคลลี่ สโตน" จากมูลนิธิ ActionAid International อธิบายกับ UN News ว่า เรากำลังเรียกร้องให้ประเทศทางเหนือของโลกจ่ายเงินสำหรับการเงินด้านสภาพภูมิอากาศและหนี้ที่พวกเขาติดค้างกับทางใต้ของโลก

"นัมราตา เชาดารี" จากองค์กรสิ่งแวดล้อมนานาชาติ 350.org กล่าวว่า เงินจำนวนเท่านี้น่าผิดหวังอย่างมาก มันคือการตบหน้าดูหมิ่น และน่าตกใจที่พวกเราอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ประเทศที่ร่ำรวยกำลังเล่นการพนันกับชีวิตของคนในประเทศกำลังพัฒนาและเกาะเล็กๆ

"ลิดี้ แน็กปิล" จากขบวนการประชาชนเอเชียเพื่อหนี้สินและการพัฒนา แสดงความผิดหวังของเธอเช่นกัน และชี้ให้เห็นว่า การเงินด้านสภาพภูมิอากาศไม่ควรมาในรูปแบบของเงินกู้เพราะมันจะเพิ่มภาระหนี้

"ยาคอบ โอชารัน" จาก Climate Action Network International กล่าวว่า เราขอเรียกร้องให้ทุกประเทศกำลังพัฒนามีความกล้าหาญในการเจรจาเพื่อผลักดันต่อไป เพราะข้อตกลงนี้แย่มาก เรายังคงผลักดันแนวคิดที่ว่าไม่มีข้อตกลงยังดีกว่าข้อตกลงที่แย่

การเจรจาต่อเนื่อง

ถึงจะมีการกำหนดตัวเงินแล้ว แต่ผู้แทนหลายคนที่กรุงบากูคาดว่าจะต้องเจรจากันต่อไปในประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทของประเทศพัฒนาแล้วในการให้การสนับสนุนการเงินใหม่นี้, เป้าหมายระดับโลกสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรม และแนวทางที่ชัดเจนสำหรับทั้งการปรับตัวและการลดผลกระทบ การประชุมใหญ่คาดว่าจะกลับมาเจรจากันอีกเพื่อหาข้อตกลงสุดท้าย

 

อ้างอิง : Statista, United Nations