กรมส่งเสริมการเกษตร หนุน ING โมเดล ลดเผาวัสดุการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศประเมินพื้นที่เสี่ยงและบริหารจัดการเผาวัสดุเกษตร เพื่ออากาศสะอาดที่ดีกว่า ด้วย ING โมเดล
หลังจากการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เพื่อขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ของรัฐบาล
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมรับนโยบายรัฐบาล วางแผนการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาขับเคลื่อน ดังนี้
1. การจัดทำแผนที่ความเสี่ยง โดยวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก และปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จากการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ในฤดูกาลเพาะปลูก 67/68 เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดการเผาไหม้และสร้างมลพิษทางอากาศให้ลดน้อยลงมากที่สุด โดยจัดให้มีชุมชนแห่งการเรียนรู้การทำเกษตรแบบไม่เผาและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเรียนรู้ชุดข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ จุดความร้อน ผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันสร้างทางเลือกที่ดีกว่า เช่น
การปลูกพืชหมุนเวียนมูลค่าสูงเพื่อลดวัสดุเหลือใช้ สร้างผลผลิตและรายได้สุทธิที่หลากหลาย, การแปรรูปตอซังข้าวโพด ฟางข้าว เป็นวัสดุชีวภาพ ชีวมวล, การจัดการวัสดุเกษตรในพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟโดยประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ตามประกาศและหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น
2. การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร ด้วย ING โมเดล ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ Climate Smart Agriculture Technology เช่น การประเมินข้อมูลอากาศเพื่อการวางแผนและควบคุมสมดุลปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละระยะ, การจัดระบบน้ำในแปลงเกษตรเพื่อลดความเสี่ยงร้อนแล้ง, การปรับรูปแปลงด้วยระบบ landscape design และ land leveling เพื่อลดการใช้ทรัพยากรปัจจัยการผลิต,
การจัดการดินให้เหมาะสมกับด้วยการเติมอินทรียวัตถุในดินและสร้างธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองตามความต้องการของพืช, การจัดการโรค แมลงศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีผสมผสาน (IPM) ซึ่งจะส่งผลให้ลดการใช้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง, การปลูกพืชหมุนเวียน (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว มันฝรั่ง และพืชอื่นๆ), การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมวัสดุชีวภาพ Bio Material ทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมพลังงานชีวมวล Bio Energy และการเข้าสู่การรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิต มาตรฐานสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. การพัฒนาออกแบบระบบแรงจูงใจทางเศรษศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไม่เผา รองรับการค้าในระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่ไม่เผา เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยในการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น
ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจต่อสินค้าว่าจะไม่มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมและจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกรวมทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซังข้าว ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากการเพาะปลูกข้าว ภายในระยะเวลา 7 วัน ซึ่งทำให้ลดการเผา อีกทั้งยังเพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มผลิตและสร้างรายได้สุทธิที่ดีกว่าเดิมในรอบการผลิตต่อไป
ทั้งนี้ จากความสำเร็จในปี 2566/67 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกันทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ทุกคนได้มีอากาศสะอาด โดยสามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวน 16,000 ตันคาร์บอน ซึ่งในปี 2567/68 จะร่วมขับเคลื่อนตามมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป