กลุ่มวัสดุก่อสร้าง LBM เครือปูนอินทรี มุ่งสู่นวัตกรรมเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำ
นวัตกรรมก่อสร้างเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืน โดยเปิดทางให้การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมอนาคตที่มีสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง LBM หรือ Light Building Materials ในเครือบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือปูนอินทรี ได้จัดงาน “INSEE Xclusive Dinner Talk by LBM” ภายใต้คอนเซ็ปต์ INSEE Low Carbon Society หรือ อินทรี...สร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
"เฮเมนท์ มู๊ดกัล" ประธานเจ้าหน้าท่ีบริหารกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง LBM ประกอบไปด้วยหน่วยธุรกิจอินทรีมอร์ตาร์ บริษัท อินทรีซุปเปอร์บล๊อก จำกัด และบริษัท คอนวูด จำกัด
"กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง LBM ให้ความสำคัญด้านการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเล็งเห็นถึงปัญหาสภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่แปรปรวน และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
จึงได้พยายามลดการสร้างขยะ ลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น และนำสิ่งต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ ผ่านโครงการต่างๆ พร้อมสร้างองค์กรให้ตอบรับกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืนในทุกกระบวนการทำงาน โดยพยายามลดการสร้างขยะ ลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น และนำสิ่งต่างๆ กลับมาใช้ใหม่"
แนวทางที่ LBM เพื่อความยั่งยืนมี ดังนี้
- Waste Heat : นำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้ลมร้อนที่เกิดจากการผลิตในโรงงานไปปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งนำไปใช้เป็นพลังงานในกระบวนการผลิตขั้นต่อไปได้ ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลภาวะในอากาศ
- Waste Management : นำระบบการจัดการอุตสาหกรรมการผลิตพัฒนาและปรับลดเศษวัสดุที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต และนำเศษวัสดุมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดปริมาณขยะ
- Wet Pulp : นำเยื่อไฟเบอร์บริสุทธิ์จากกระดาษมาแปรรูปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ช่วยประหยัดเวลาในการเตรียมวัตถุดิบ ลดการใช้น้ำ ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
"ชนิกา ช่อวิเชียร" Sustainability Lead บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกเดือด ประเทศไทยได้มีการจัดการเกี่ยวกับ GHG ในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ได้เร่งรัดให้ยกเลิกการใช้ปูนซีเมต์ปอร์ตแลนด์ แล้วหันมาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่ปลดปล่อย CO2 น้อยกว่า
"บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลด CO2 โดยมีการพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับความยั่งยืนและมาตรฐานอาคารเขียว ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุทดแทน การใช้สินค้าภายในประเทศ โดยสินค้าและโรงงานได้รับฉลาก EPD, CFP, Green Label และ Green Industry ที่เป็นการบ่งบอกถึงความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม"
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ภายใต้เครือปูนอินทรีได้รับหนังสือรับรองด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฉลากเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว การประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) เป็นต้น
ภายในงาน “INSEE Xclusive Dinner Talk by LBM” ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนอย่างคุณท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร Eco Designer และเจ้าของแพลตฟอร์ม ECOLIFE บริษัท คิด คิด จำกัด มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการจัดการและพัฒนาองค์กรไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
"พิพัฒน์" เน้นย้ำว่า การดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ได้นั้น ต้องเริ่มที่วิสัยทัศน์ที่ดีขององค์กร และการส่งต่อจิตสำนึกนี้ถึงพนักงานทุกฝ่าย เพื่อให้สังคมไทยน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
งานนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง LBM ในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน พร้อมกับการพัฒนาองค์กรและผลิตภัณฑ์ให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต