กาแฟ Hillkoff ฝ่าฟันอุปสรรค เน้นความยั่งยืน เพื่อธุรกิจ และชุมชนอยู่รอด

กาแฟ Hillkoff ฝ่าฟันอุปสรรค เน้นความยั่งยืน เพื่อธุรกิจ และชุมชนอยู่รอด

"ฝิ่นสู่กาแฟ" แนวคิดของคุณลุงนักการป่าไม้ที่ว่า ที่ไหนที่มีต้นสนขึ้น ที่นั่นก็จะมีกาแฟขึ้นตามมา แนวคิดนี้กลายมาเป็นการส่งเสริมการปลูกกาแฟแทน และลูกสนก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของธุรกิจ 'ฮิลล์คอฟฟ์' จนถึงทุกวันนี้

"Hillkoff" หรือชื่อเดิม กาแฟชาวไทยภูเขา ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งโดย “ธีระ ทักษอุดม” แต่ก่อนจะเป็นธุรกิจกาแฟที่ครบวงจรอย่างทุกวันนี้ “ธีระ” เริ่มจากร้านขายสินค้าชาวเขามาก่อน จนปี พ.ศ.2515 องค์การสหประชาชาติ (UN) เข้ามาทำงานที่ จ.เชียงใหม่

เพื่อแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และชาวเขาผู้อพยพเข้ามาสร้างรายได้โดยการปลูกฝิ่นจนทำให้เกิดปัญหายาเสพติด ได้มองหาผู้นำในพื้นที่เพื่อช่วยสื่อสาร และเชื่อมสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ จึงได้พบกับคุณธีระ และได้ทำงานร่วมกัน

ช่วงที่ UN เข้ามาในพื้นที่ พ.ศ.2515-2522 ได้ส่งเสริมให้ชาวเขา กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ชาวแม้ว ชาวเย้า ชาวลาหู่ ชาวลีซอ ชาวอาข่า ชาวกะเหรี่ยง และชาวฮ่อ พวกเขาได้ปลูกกาแฟอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

พร้อมขยายพื้นที่ปลูกเรื่อยมา จนมีผลผลิตเมล็ดกาแฟจำนวนมาก แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นคือ ไม่มีคนซื้อที่มากพอ และขาดตลาดรองรับ บวกกับ UN ต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่หลังหมดงบประมาณสำหรับภารกิจ คุณธีระจึงได้สานต่องานโครงการ และรับซื้อกาแฟทั้งหมดจากชาวบ้านเพื่อเอาไปขาย

กาแฟ Hillkoff ฝ่าฟันอุปสรรค เน้นความยั่งยืน เพื่อธุรกิจ และชุมชนอยู่รอด

สานต่อการช่วยเหลือชาวเขา

“นฤมล ทักษอุดม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ผู้รับไม้ต่อจาก “ธีระ” ซึ่งเป็นพ่อ เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ฟังว่า ธุรกิจเมล็ดกาแฟไม่ใช่เรื่องง่าย มีต้นทุนการเพาะปลูก ผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และราคากาแฟต้องอิงตลาด บางปีราคาดีมาก บางปีราคาตกต่ำ และขาดทุนหนัก

“เราก็ยังคงรับซื้อกาแฟจากชาวบ้านต่อ เพราะคุณพ่อรับปากว่าจะสานต่อโครงการจาก UN ไว้ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้มีรายได้ ตอนนั้นคุณพ่อพยายามดิ้นรน หาตลาด หาคนมาซื้อ จนแบกรับต้นทุนไว้เกือบหมดตัว"

สุดท้ายด้วยเงินก้อนสุดท้ายจึงตัดสินใจนำเข้าเครื่องคั่วกาแฟนำเข้าจากต่างประเทศเครื่องแรก แล้วส่งกาแฟคั่วอาราบิก้าให้ร้านเกษมสโตร์ ซึ่งเป็นร้านชำเก่าแก่ตักขาย และได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่

นอกจากนั้น เอาไปขายในงานต่างๆ เพื่อหาตลาด แม้ว่าในตอนนั้นจะไม่มีธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟโดยเฉพาะ แต่คุณพ่อเชื่อว่ากาแฟจะเป็นอนาคตที่ดีกว่า และผลจากความพยายาม เกษตรกรกลุ่มแรกก็ได้ปลูกกาแฟ และมีอนาคตที่มั่นคงมากขึ้น และกาแฟคั่วของคุณพ่อเริ่มมีช่องทางมากขึ้น

กาแฟ Hillkoff ฝ่าฟันอุปสรรค เน้นความยั่งยืน เพื่อธุรกิจ และชุมชนอยู่รอด

ทำธุรกิจให้ยั่งยืนสำคัญมากกว่า

พอมาถึงยุคที่ “นฤมล” ต้องบริหารธุรกิจเอง ตลาดธุรกิจกาแฟโตมากขึ้น แต่เธอมองว่าการพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญมากกว่ามองที่ผลกำไรอย่างเดียว เธอต้องการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน และขยายตลาดการซื้อขายจากชุมชนสู่เขตเมือง นอกจากนั้นยังต้องการปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการรักษาผืนป่าของผู้คนบนพื้นที่ภูเขาเหล่านั้นอีกด้วย

“ดิฉันส่งเสริมคนในพื้นที่ปลูกกาแฟ และแปรรูปกาแฟ โดยเน้นทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. และยังขยายพื้นที่การปลูกไปจนถึง จ.แม่ฮ่องสอน และชายแดน"

ศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร ชาวไทยภูเขา

นฤมลเคยสอนที่มหาวิทยาลัยพายัพ และเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนามาตลอด ได้นำองค์ความรู้จากศาสตร์หลายแขนง มาเสริมสร้างพัฒนาให้เกิดสินค้านวัตกรรมต่างๆ เพื่อมาต่อยอดหมุนเวียนทรัพยากรในท้องถิ่น

"ดิฉันมั่นใจว่ารูปแบบนี้มีอนาคต จึงได้เปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร ชาวไทยภูเขา’ ขึ้นมาที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการสอนคนทำธุรกิจกาแฟ การเปิดร้านกาแฟ และมีหลักสูตรการทำกาแฟอย่างเช่น บาริสต้า ลาเต้อาร์ต และการชิมกาแฟ”

กาแฟ Hillkoff ฝ่าฟันอุปสรรค เน้นความยั่งยืน เพื่อธุรกิจ และชุมชนอยู่รอด

โรงงานกาแฟสีเขียว

นอกจากนั้น เปิดโรงงานกาแฟสีเขียว ให้ความสำคัญและติดตามในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดของเสียจากกระบวนการผลิตกาแฟ โดยใช้วิธีกำจัดควันจากกระบวนการคั่วด้วยระบบ Water Wet Scrubber แทนพลังงานฟอสซิล

บวกกับแนวคิด No Burn, Grow Coffee เชิญชวนให้ชาวบ้านลดการเผาป่า และนำเศษวัสดุจากการปลูกกาแฟ รวมทั้งเปลือกผลกาแฟมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดการสร้างขยะจากกระบวนการผลิต และยังคงทำงานอย่างต่อไปด้วยแนวคิดใหม่ๆ หลังจาก 6 ปี Hillkoff สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงเหลือ 30% และพิสูจน์แล้วว่า 100% โรงงานผลิตกาแฟ Hillkoo เป็นโรงงานแบบ Zero-waste

“เรายังคงเรียนรู้ทรัพยากรด้านกาแฟมาโดยตลอด และไม่เคยมองว่ากาแฟเป็นเพียงเครื่องดื่มสีดำเท่านั้น แต่ฮิลคอฟฟ์จะกระโดดออกจากถ้วยกาแฟ และต้องไปไกลกว่านั้น เราขยับจากการทำธุรกิจกาแฟอย่างเดียว และเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของบริษัทเป็นการออกแบบป่าไม้ (Forest Designer) ตอนนี้ขยายการทำงานไปยังการปลูกกล้วย น้ำผึ้ง และข้าว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของเกษตรกรบนดอย"

เพราะถ้าเขาแข็งแรง เราก็จะแข็งแรงด้วย และจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องราคากาแฟที่จะขึ้นหรือลง เป็นการสร้างโมเดล ‘พึ่งพาอาศัยกัน’  ไม่มีคำว่า ‘ช่วยเหลือ’ อีกต่อไป

กาแฟ Hillkoff ฝ่าฟันอุปสรรค เน้นความยั่งยืน เพื่อธุรกิจ และชุมชนอยู่รอด

สิงคโปร์สนใจสารสกัดจากผลกาแฟ

Hillkoff สามารถต่อยอดศักยภาพทำได้สำเร็จ โดยพัฒนาสารสกัดจากผลกาแฟ และได้นำไปแสดงในงานเทคอินโนเวชั่นที่สิงคโปร์ เครื่องดื่มสารสกัดจากเนื้อผลกาแฟนี้ ผ่านการทำวิจัยมามากกว่า 10 ปี และได้รับการประเมินจากศูนย์ประเมินความเสี่ยงของประเทศไทย

ทำให้ Hillkoff กลายเป็นบริษัทแรกที่มีผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ (Novel food) ในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังได้รับเลือกจากหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ด้วย

ขอแรงภาครัฐสนับสนุน

“นฤมล” กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐสนับสนุนและช่วยธุรกิจของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเรา เพราะประเทศไทยโดยเฉพาะในชนบทยังมีปัญหาเรื่องความยากจน และความไม่เท่าเทียมทางรายได้ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรที่สูง

"น้ำท่วมปีนี้ทำให้โรงงาน และโกดังของเราเสียหายหนัก เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโทรศัพท์มาทวงสัญญาเรื่องความช่วยเหลือ ทำให้เรารู้สึกท้อแท้ อยากให้ภาครัฐเข้าใจ และดูแลทรัพยากรอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำตามกระแส”

“นฤมล” กล่าวต่อว่า ได้สมัครเข้าร่วมโครงการยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก (UNGCNT) หลังจากเขียนหนังสือยืนยันความมุ่งมั่นต่อเป้าหมายของโครงการ และส่งไปในเดือนเมษายน 2567 และได้รับการตอบรับในเดือนพฤษภาคม ในปีเดียวกัน

“Hillkoff ได้กลายเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ United Nations Global Compact ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความร่วมมือครั้งนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการดําเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับพันธกิจของเราในการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และการดูแลสิ่งแวดล้อม”

กาแฟ Hillkoff ฝ่าฟันอุปสรรค เน้นความยั่งยืน เพื่อธุรกิจ และชุมชนอยู่รอด

SMEs เริ่มจากน้อยไปมาก

สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่รู้สึกว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องยาก “นฤมล” แนะนำว่า ควรมองว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว การปรับตัวอาจมีต้นทุนสูง แต่การเริ่มจากน้อยไปมาก และทำงานอย่างระมัดระวังจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

“Hillkoff พบความท้าทายจากการเริ่มต้นธุรกิจ แต่การทำงานกับเกษตรกรต้นน้ำ และการพึ่งพาซึ่งกัน และกันช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ ความเชื่อมโยง และคอมมิตเมนต์ระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืน ถึงแม้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผลผลิตกาแฟลดลงบางปี แต่เรายังคงมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและชุมชน” นฤมล กล่าว

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์