20 ปี สึนามิ คลื่นยักษ์เปลี่ยนชีวิตคนไทย สู่แผนการตั้งรับต่อเนื่อง
ในปี 2024 ประเทศไทยได้รำลึกถึงครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียปี 2547 ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.1 นอกชายฝั่งสุมาตราเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 สร้างความเสียหายตามชายฝั่งอันดามัน คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 5,400 ราย และมีผู้สูญหายนับพัน
ในกระแสความตื่นตัวเรื่องภัยพิบัติที่สร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทย หลายคนคงไม่อาจลืมเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิปี 2547 ที่ซัดถล่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาในด้านการตั้งรับ เช่น ระบบเตือนภัยและแผนรับมือภัยพิบัติที่ดีขึ้น แต่ความเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิในอนาคตก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่สามารถมองข้ามได้ แต่ร่องรอยความเสียหายยังคงมีอยู่แม้เวลาจะผ่านไปนาน ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในองค์กรที่ยังคงลงพื้นที่ติดตามและให้ความช่วยเหลือกับเด็กและชุมชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
เรื่องเล่าจากผู้ประสบภัย
นายตะวัน ทรายอ่อน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจัดการภัยพิบัติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในวันนั้น วันที่สึนามิพรากคนที่รักและทรัพย์สินของเขาไปในชั่วพริบตา ว่า "ผมเกิดและโตในครอบครัวชาวประมงที่จังหวัดพังงา วันนั้นปู่กับพ่อออกทะเล
ส่วนผมอยู่บ้าน คลื่นใหญ่ซัดเรือแตก พ่อรอดแต่ปู่จมหายไป ไม่กี่นาทีถัดมา คลื่นที่ซัดเข้าฝั่งก็พัดย่าและอาผมไปด้วย ส่วนผมและคนอื่นๆ รอดมาได้เพราะเกาะต้นไม้ หลังจากนั้นเราไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงที่จังหวัดจัดให้ และได้รับความช่วยเหลือจากศุภนิมิตฯ"
มูลนิธิศุภนิมิตฯช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน และยังได้จัดตั้งโครงการอุปการะเด็กในพังงา ซึ่งนายตะวันได้เข้าร่วม ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจนเป็นนักศึกษาสาขาจัดการภัยพิบัติ
โดยปัจจุบันกำลังฝึกงานที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อทำตามความฝันที่จะใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการป้องกันภัยพิบัติมาพัฒนาบ้านเกิด และให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นายตะวัน ทรายอ่อน กลายเป็นบุคคลต้นแบบที่แสดงถึงความสำเร็จของโครงการต่างๆ ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาให้เขากลายเป็นบุคลากรคุณภาพ พร้อมส่งต่อความช่วยเหลือและความรู้ให้กับสังคมและชุมชนต่อไป
ช่วยเหลือครอบครัวให้ฟื้นตัวได้
ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เผยว่า สึนามิเมื่อปี 2547 ยังคงเป็นภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 230,000 รายใน 14 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
"World Vision (ศุภนิมิตสากล) ดำเนินการตามแนวทาง First In, Last Out โดยให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการช่วยชีวิต และดำเนินการตามแผนในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือครอบครัวในด้านต่างๆ ให้ฟื้นตัวได้ กรณีของน้องตะวันเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงผลกระทบและความพยายามร่วมกันของเรา"
นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว World Vision ยังให้ความช่วยเหลือใน 4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และเมียนมาร์ โดยช่วยเหลือผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนภายใน 90 วันแรกหลังเกิดเหตุผ่านการมอบสิ่งของจำเป็นในการช่วยชีวิต และอีก 1.1 ล้านคนในด้านการฟื้นฟูเช่นการสร้างบ้านและโรงเรียน การปลูกป่าชายเลนทดแทน เป็นต้น
หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ลดความรุนแรงได้
แม้เวลาจะผ่านไปนาน แต่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังคงลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า ทำกิจกรรมกับเยาวชนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำงานภายใต้แผนการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction: DRR) และเปิดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนและโรงเรียนในทุกภูมิภาค รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ที่เคยประสบสึนามิ เพื่อให้ทุกคนเตรียมความพร้อมเมื่อต้องประสบกับภัยพิบัติในทุกรูปแบบ
ยามเกิดภัยพิบัติ เด็กๆ และชาวบ้าน พร้อมหน่วยงานท้องถิ่นมีแผนรองรับสำหรับการรับมือ เช่น อพยพ ย้ายสิ่งของ และปฏิบัติตามที่วางแผนไว้ และเมื่อพายุพัดผ่านไป มูลนิธิฯ เข้าตรวจสอบความเสียหาย พร้อมประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งภาครัฐและเอกชนในการให้ความช่วยเหลือ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดภัยพิบัติ
ส่วนโครงการให้ความรู้กับเด็กและชุมชนในการเตรียมตัวในกรณีเกิดภัยพิบัติทั่วประเทศไทย เช่น
- ส่งเสริมหลักสูตรลดความเสี่ยงภัยพิบัติในบริบทของโรงเรียนโดยเฉพาะ ได้รับการรับรองให้เป็นหลักสูตรมาตรฐานของประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaisafeschool.com โดยมีผู้ลงทะเบียนและได้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น 268,280 คน แยกเป็นบุกคลากรสังกัด สพฐ. จำนวน 250,217 คน และผู้ลงทะเบียนบุคคลทั่วไป 17,763 คน
- โครงการโรงเรียนของเรา ส่งเสริมความรู้ เตรียมความพร้อมเด็ก ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ให้มีความปลอดภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ มีเด็กนักเรียนเข้าร่วมกว่า 10,000 คน และ ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารสถานศึกษา เข้าร่วมรวม 1,000 คน
ภาวะโลกร้อน สาเหตุทางอ้อม สึนามิ
คลื่นสึนามิส่วนใหญ่เกิดจากเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาใต้น้ำ เช่น แผ่นดินไหว การปะทุของภูเขาไฟ และดินถล่มใต้น้ำ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของน้ำจำนวนมาก ก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรด้วยความเร็วสูง และสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากเมื่อถึงพื้นที่ชายฝั่ง
แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะไม่ก่อให้เกิดสึนามิโดยตรง แต่ก็อาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อปัจจัยบางประการที่อาจมีผลต่อความถี่และความรุนแรงของสึนามิได้ ตัวอย่างเช่น:
การละลายของน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง: การละลายของน้ำแข็งสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมวลดินและทำให้เกิดดินถล่มใต้น้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิได้
การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล: ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนสามารถทำให้พื้นที่ชายฝั่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิมากขึ้น