COP 29: พัฒนาความสำคัญตลาดคาร์บอน และโอกาสใหม่ของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในทุกมิติทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกภาคส่วนต่างช่วยกันพัฒนาและหามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ รวมทั้งส่งเสริมการปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง กลไกตลาดคาร์บอน
ถือเป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่ช่วยให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการเชื่อมโยงเงินทุนไปสู่โครงการลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก่อให้เกิดการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
การประชุม COP29 ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจานที่ผ่านมา ย้ำถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงหลัก กล่าวคือ การรับรองกลไกตาม Article 6 ของข้อตกลงปารีส ซึ่งทำให้กรอบการดำเนินงานมีความชัดเจนมากขึ้น โดยหลังจากที่กลไกดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้ตลาดคาร์บอนมีทิศทางการเติบโตที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยอาจใช้โอกาสนี้ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไปพร้อมกัน
กลไกสำคัญภายใต้ Article 6 ที่ไทยจะมีส่วนร่วมแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ
⦁ กลไกระหว่างประเทศ (G2G): เป็นกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างรัฐต่อรัฐภายใต้ Article 6.2 ที่มีการกำหนดกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการอนุมัติการซื้อ-ขายระหว่างประเทศ
⦁ กลไกระบบศูนย์กลาง (PACM): เป็นกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจาก UN ภายใต้ Article 6.4 ตามมาตรฐานการพัฒนาโครงการแต่ละประเภท
ประเทศไทยมีบทเรียนจากโครงการ Bangkok E-bus ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับสวิสเซอร์แลนด์ภายใต้ Article 6.2 โดยโครงการนี้ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องกลไกระหว่างประเทศ และสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาโครงการอื่น เช่น ระบบขนส่งสาธารณะไฟฟ้าในพื้นที่เมือง สำหรับภายใต้ Article 6.4 ถือเป็นโอกาสสำคัญของภาคเอกชนที่สนใจพัฒนาโครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โรงไฟฟ้าความร้อนจากแสงอาทิตย์ โครงการกักเก็บคาร์บอน (CCS) เป็นต้น โครงการเหล่านี้แม้ต้องใช้เงินลงทุนสูงในช่วงแรก แต่ประสิทธิภาพของการลดปริมาณการปล่อยหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้สร้างผลลัพธ์สูงกว่า
เพื่อสนับสนุนให้ตลาดคาร์บอนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้วางแผนพัฒนาระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งรองรับการซื้อขายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรองรับการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Allowance) ที่จะเกิดขึ้นภายหลังที่ พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ การมีระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสจะสร้างความเชื่อมั่นของตลาดทุนและทำให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเพิ่มขึ้นต่อไป
การพัฒนาตลาดคาร์บอนเป็นการกระตุ้นการเติบโตของตลาดทุนให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน เพิ่มโอกาสการลงทุนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำตลาดคาร์บอนในภูมิภาค ด้วยการผสมผสานประสบการณ์จากความร่วมมือที่ผ่านมาและการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุนพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
“ตลาดคาร์บอนคือโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยไม่ควรปล่อยให้หลุดมือ”