‘ดอกไม้ไฟ’ ทำลายสิ่งแวดล้อม ‘PM2.5 - ไมโครพลาสติก - ก๊าซพิษ’ พุ่งหลังจุดพลุ
ท่ามกลางความสวยงามของ “พลุ” และ “ดอกไม้ไฟ สุดตระการตาสร้างความสุขให้ผู้คน แต่กลับต้องแลกมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คาดไม่ถึง
KEY
POINTS
- สารต่างๆ จะเกิดการเผาไหม้จากดอกไม้ไฟ เกิดเป็นมลพิษจำนวนมาก ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกนานาชนิด และปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูง
- เปลือกพลุ และโลหะหนัก ในระบบนิเวศ
- เสียงดัง และแสงสว่างวาบของพลุ ทำให้สัตว์ต่างๆ กลัว และสับสน ส่งผลให้พวกมันหลงทาง ละทิ้งที่อยู่อาศัย และอาจได้รับอันตราย
“พลุ” และ “ดอกไม้ไฟ” กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ในการจัดงานเฉลิมฉลองรื่นเริงต่างๆ และนับวันในการจัดงานแต่ละครั้งยิ่งมีจำนวนดอกไม้ไฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นพันเป็นหมื่นดอก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ท่ามกลางความสวยงามของพลุสุดตระการตา กลับต้องแลกมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คาดไม่ถึง
ส่วนประกอบหลักของดอกไม้ไฟ คือ “ดินปืน” ที่มีสีดำ และไม่สวยงามนัก ทำให้มีการนำแร่ธาตุต่างๆ มาผสม เพื่อให้จุดออกมาแล้วมีสีสันสวยงาม โดยสีสารแต่ละชนิดก็จะให้สีที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีการใส่สารเคมีอื่นๆ เช่น คาร์บอน กำมะถัน อะลูมิเนียม และแมงกานีส ทำหน้าที่เป็นสารคงตัว สารออกซิไดเซอร์ และให้สีเพิ่มเติม
“ดอกไม้ไฟ” กับ “มลพิษทางอากาศ”
แม้ว่าดอกไม้ไฟจะส่งแสงระยิบระยับบนฟากฟ้าเพียงไม่นาน แต่สารเคมีจากดอกไม้ไฟไม่ได้หายไปในอากาศ เมื่อถูกเผาไหม้ และสัมผัสกับออกซิเจน สารต่างๆ จะเกิดการเผาไหม้ เกิดเป็นมลพิษจำนวนมาก ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ และอาจทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกนานาชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละออง
ช่วงเทศกาล “ทีปาวลี” (Diwali) เทศกาลแห่งแสงที่จัดขึ้นในอินเดียมีการจุดดอกไม้ไฟประมาณ 50,000 ตัน ตลอดระยะการจัดงาน 5 วัน ทำให้เกิดหมอกควันพิษปกคลุมเมือง ซึ่งในช่วงวันที่จัดงานมีปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงกว่าวันปกติถึง 35 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองเดลีมีปริมาณอนุภาคสูงที่สุดในปี 2560 เมื่อมีการจุดพลุในช่วงเทศกาลมีปริมาณ PM2.5 ต่อชั่วโมงที่ 900 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
งานฉลองวันประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฎาคม ของสหรัฐ เป็นอีกหนึ่งงานที่มีการจุดพลุมากที่สุด ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น โดยนักวิจัยค้นพบว่า หลังจากจุดพลุในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ความเข้มข้นของคาร์บอนมอนอกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น 32% คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 17% และไนตริกออกไซด์ผันผวนเล็กน้อยก่อนจะเพิ่มเป็นสองเท่าในชั่วข้ามคืน
เช่นเดียวกับเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่มีการจุดดอกไม้ไฟ การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า คืนที่มีการจุดพลุในกรุงลอนดอน ความเข้มข้นของมลพิษอนุภาคเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์และไนตริกออกไซด์ ซึ่งแพร่กระจายออกไปในปริมาณมากอีกด้วย
มลพิษในชั้นบรรยากาศที่เกิดจากกิจกรรมดอกไม้ไฟ ส่งผลให้อุณหภูมิอากาศ ความชื้น ทัศนวิสัยในอากาศ และปัจจัยอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไป ในระหว่างการแสดงดอกไม้ไฟ พบว่า ปริมาณความร้อนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น อุณหภูมิอากาศที่ผิวดินสูงขึ้น และทัศนวิสัยในอากาศลดลงมากถึง 92%
“ดอกไม้ไฟ” ทำลายระบบนิเวศ
สารเคมีในดอกไม้ไฟสามารถทำลายพื้นผิวโลก เป็นอันตรายต่อดิน แหล่งน้ำ ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ได้อีกด้วย โดยเฉพาะ “เปอร์คลอเรต” (Perchlorate) สารเคมีที่ถูกเติมลงไปในดอกไม้ไฟ เพื่อเป็นสารออกซิไดเซอร์ ช่วยให้ดินปืนสามารถพุ่งสู่ท้องฟ้าได้ และเมื่อดอกไม้ไฟระเบิดออกมาเป็นแสงสีต่างๆ เศษสารเคมีจะกระจัดกระจายไปทั่วพื้นดิน
เปอร์คลอเรตสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน หากตกลงไปในแหล่งน้ำก็จะทำให้การเจริญเติบโตของปลาเปลี่ยนไป หากอยู่ในดินก็จะทำให้พืชตายได้เช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) และหน่วยงานอุทยานแห่งชาติศึกษาระดับเปอร์คลอเรตที่มาจากดอกไม้ไฟ ซึ่งพบในดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเมาท์รัชมอร์ พบว่า ระดับของเปอร์คลอเรตในดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการจุดพลุที่สะสมมาเป็นเวลานาน
การวิจัยที่คล้ายกันเกิดขึ้นในอินเดีย โดยนักวิจัยเก็บตัวอย่างน้ำ และดินหลังจากจุดดอกไม้ไฟ พบว่าตัวอย่างทั้งสองมีเปอร์คลอเรตเข้มข้น ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่ว่าจะจุดดอกไม้ไฟขึ้นที่ใดก็ตาม เปอร์คลอเรตก็จะตามมาด้วย
ดอกไม้ไฟยังสามารถก่อให้เกิดมลพิษไมโครพลาสติกในน้ำได้อีกด้วย โดยพบว่าแม่น้ำเทมส์ ในอังกฤษ มีปริมาณไมโครพลาสติกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000% ที่เก็บตัวอย่างหลังจากจบการแสดงดอกไม้ไฟในคืนส่งท้ายปีเก่าไปแล้ว 6 ชั่วโมง
พลุปล่อยมลพิษต่าง ๆ สู่ชั้นบรรยากาศ และสามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน ทำให้สารปนเปื้อนเหล่านี้ถูกพัดพาไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไนตริกออกไซด์ พร้อมกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ถูกพัดมาโดยลม แล้วผสมกับออกซิเจน น้ำ และสารเคมีอื่นๆ จะทำให้เกิดฝนกรด ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะบริเวณแหล่งน้ำ และป่าไม้
อนุภาคขนาดเล็กจากดอกไม้ไฟสามารถตกลงบนดิน และน้ำได้เช่นกัน ซึ่งทำให้สารอาหารในดินเปลี่ยนแปลงไป น้ำผิวดินมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลร้ายแรงต่อระบบนิเวศ ในทำนองเดียวกัน ส่วนประกอบของกำมะถันในบรรยากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สามารถทำลายใบไม้ และขัดขวางการเติบโตของพืชได้
ขณะที่ เศษซากต่างๆ เช่น เปลือกพลุ และโลหะหนัก ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้น อาจทำให้สัตว์เผลอกิน วัสดุอันตรายเหล่านี้เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจทำให้พวกมันไม่สบาย และถึงแก่ชีวิตได้
นอกจากนี้ เสียงดัง และแสงสว่างวาบของพลุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และอยู่เหนือการควบคุมของสัตว์ ทำให้พวกมันกลัว และสับสน ส่งผลให้พวกมันหลงทาง ละทิ้งที่อยู่อาศัย ทิ้งลูก รบกวนพฤติกรรมการสืบพันธุ์ และการกินอาหาร และประสบปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดหรือถูกรถชน
ที่มา: BBC, Earth, NBC News, South China Morning Post
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์