อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์-ยั่งยืน

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา  ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์-ยั่งยืน

มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับ EGCO Group และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดตัวเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ณ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ

KEY

POINTS

  • เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ให้แก่เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว
  • การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ 
  • เป็นการวางรากฐานในการปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้คงความสมบูรณ์และยั่งยืนสืบไป

 

มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับ EGCO Group และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดตัวเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ณ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ นำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้ภูมิทัศน์ลานหินทรายอายุ 125 ล้านปี และระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ทิวทัศน์ศาลา ‘เฮือนเบิ่งตะเว็น’ ตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีพื้นที่ 125,312 ไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอในจ.ชัยภูมิ ได้แก่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอแก้งคร้อ อำเภอเมืองชัยภูมิ และอำเภอบ้านเขว้า โดยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและที่ราบสูง มีระดับความสูงระหว่าง 200-1,038 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ผาหัวนาค ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมืองชัยภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของมอหินขาว โดดเด่นด้วยลานหินทรายอายุกว่าร้อยล้านปี ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ของหิน ดิน และป่า ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศและแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำชี ภูมิประเทศพลาญหินทรายส่งผลให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืช เช่น ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขาต่ำ และพื้นที่เชื่อมต่อทางนิเวศเฉพาะตัว ซึ่งล้วนเป็นแหล่งฟื้นฟูและหล่อเลี้ยงธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตในพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กอิน!ท่องเที่ยวยั่งยืน ตามรอยม้งไซเบอร์ พร้อมเรียนรู้ผลิตไฟฟ้าเกาะจิก

สายเที่ยว เตรียมแพ็กกระเป๋า ! ลุยเส้นทาง 'ส่องนก' ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า EGCO Group ให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพมากว่า 22 ปี

ในปี 2567 มูลนิธิฯ และอุทยานแห่งชาติภูแลนคาได้พัฒนา เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ระยะทาง 2.66 กิโลเมตร ซึ่งออกแบบให้ได้มาตรฐาน แข็งแรง เดินง่าย และปลอดภัย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และเข้าใจคุณค่าของธรรมชาติและสภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีการจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ 14 จุด ป้ายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณ 5 จุด และสร้างศาลา “เฮือนเบิ่งตะเว็น” เพื่อจัดแสดงนิทรรศการและเป็นที่พักชมทิวทัศน์

"เส้นทางฯ ยังถูกออกแบบให้ครอบคลุมเส้นทางลาดตระเวนและแนวกันไฟป่า เพื่อลดความเสี่ยงจากไฟป่า และในอนาคต มีแผนอบรมชุมชนและเยาวชนให้เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีคุณค่าเฉพาะตัวต่อไป" ดร.จิราพร กล่าว

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา  ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์-ยั่งยืน

ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ตระหนักรู้คุณค่า

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ผ่านความร่วมมืออย่างบูรณาการจากมูลนิธิไทยรักษ์ป่า, EGCO Group และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เส้นทางดังกล่าวได้รับการออกแบบให้ได้มาตรฐาน แข็งแรง ปลอดภัย และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้เชิงลึกในเรื่องธรณีวิทยาและนิเวศวิทยา เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งไม่เพียงสร้างคุณค่าแก่ผู้มาเยือน แต่ยังเป็นการวางรากฐานในการปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้คงความสมบูรณ์และยั่งยืนสืบไป

แหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ

ปี 2545 มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ก่อตั้งเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ให้แก่เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำแล้ว จะเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และร่วมดูแลรักษาให้ทรัพยากรธรรมชาติปัจจุบันพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำเร็จแล้วจำนวน 9 เส้นทาง ในจังหวัดเชียงใหม่และนครศรีธรรมราช

ปี 2557 เริ่มดำเนินการพื้นที่ป่าต้นน้ำจังหวัดชัยภูมิ มุ่งฟื้นฟูป่าภูหลง ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ผ่านความร่วมมือกับชุมชนบ้านตาดรินทองและวัดป่ามหาวัน ปัจจุบัขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่ป่าชุมชนตำบลธาตุทอง ภายใต้โครงการ “อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต” เพื่อดูแลและฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิไทยรักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติภูแลนคา และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกแบบโดย บริษัท ป่าเหนือ สตูดิโอ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยาเฉพาะถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาที่เชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ พร้อมสร้างความเข้าใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป