‘สารหน่วงไฟสีชมพู’ ช่วยดับไฟป่า มีโลหะหนักเกินเกณฑ์ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

‘สารหน่วงไฟสีชมพู’ ช่วยดับไฟป่า มีโลหะหนักเกินเกณฑ์ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

งานวิจัยพบ “สารหน่วงไฟสีชมพู” (Pink Fire Retardant) สารเคมีใช้ดับ “ไฟป่าลอสแอนเจลิส” มีโลหะหนักหลายชนิดเกินเกณฑ์ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์

KEY

POINTS

  • สารหน่วงไฟที่นิยมใช้ดับไฟคือ “Phos-Chek” ทำจากเกลือซึ่งมีสีขาว แต่เมื่อนำมาใช้ในการดับไฟ จึงต้องย้อมเป็นสีแดงหรือชมพู เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมองเห็นได้เมื่อสัมผัสกับพื้น
  • พบโลหะหนักอย่างน้อย 4 ประเภทในสารหน่วงไฟที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้ ในปริมาณเกิดค่าเกินข้อกำหนดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็ง โรคไตและโรคตับในมนุษย์
  • ผลการค้นพบดังกล่าวช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมความเข้มข้นของโลหะหนักจึงมักเพิ่มขึ้นในแม่น้ำและลำธารหลังจากเกิดไฟป่า

เหนือท้องฟ้านครลอสแอนเจลิสเต็มไปด้วยเครื่องบินที่ปล่อย “สารหน่วงไฟสีชมพู” (Pink Fire Retardant) เพื่อช่วยดับ “ไฟป่า” ที่กำลังลุกไหม้จนสร้างความเสียหายครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ อันที่จริงสารนี้ไม่ใช้นวัตกรรมใหม่ มันถูกใช้สำหรับดับไฟป่ามานาน แต่จากการวิจัยเพิ่งพบว่า สารหน่วงไฟ หลายล้านแกลลอนที่ฉีดพ่นลงบนพื้น เพื่อควบคุมไฟป่านั้นเป็นพิษ เนื่องจากสารดังกล่าวมีโลหะหนักและสารเคมีอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันที่อยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดไฟป่าที่มีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่าไฟป่าทั่วทั้งภูมิภาคลุกลามเร็วขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา 

การสัมผัสกับควันไฟป่ายังส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดและหัวใจ ทำให้เกิดโรคได้ โดยผลการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากไฟป่าทั่วโลก พบว่า การสัมผัสกับควันจากไฟป่าในสหรัฐเพิ่มขึ้น 77% ตั้งแต่ปี 2545 และประเมินว่าควันจากไฟป่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลกมากถึง 675,000 รายต่อปี

ด้วยไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงกว่าเดิม ทำให้นักดับเพลิงต้องใช้สารหน่วยไฟบ่อยขึ้น ใช้ในปริมาณมากกว่าเดิม และกระบวนการนี้เองที่ปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม โดยทางการได้ส่งเครื่องบินพ่นสารหน่วงไฟขนาดใหญ่ 9 ลำ รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำ 20 ลำ เพื่อดับ “ไฟป่าลอสแอนเลจิส” ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ 

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบิน DC-10 ขนาดใหญ่ 2 ลำ ซึ่งเรียกว่า “Very Large Airtankers” ซึ่งสามารถบรรจุสารหน่วงไฟได้ถึง 9,400 แกลลอน เข้ามาสมทบช่วยดับไฟ

เครื่องบินปล่อยสารหน่วงไฟสีชมพูเพื่อดับไฟป่า

เครื่องบินปล่อยสารหน่วงไฟสีชมพูเพื่อดับไฟป่า
เครดิตภาพ: REUTERS/Ringo Chiu 

โดยทั่วไปสารหน่วงไฟที่นิยมใช้คือ “Phos-Chek” ทำจากเกลือ เช่น แอมโมเนียมโพลีฟอสเฟต ซึ่งมีสีขาว แต่เมื่อนำมาใช้ในการดับไฟ จึงต้อง ย้อมเป็นสีแดงหรือชมพู เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมองเห็นสารหน่วงไฟได้เมื่อสัมผัสกับพื้น ช่วยให้สร้างแนวป้องกันไฟรอบ ๆ สารหน่วงไฟ หากฉีดพ่นสารหน่วงไฟก่อนเกิดไฟไหม้ สารนี้จะเคลือบพืชและป้องกันไม่ให้ออกซิเจนเผาไหม้ และสามารถอยู่ได้นาน ไม่ระเหยง่ายเหมือนน้ำ

เมลิสสา คิม รองประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Perimeter Solutions ซึ่งเป็นผู้ผลิต Phos-Chek กล่าวกับ NBC Los Angeles ว่า “Phos-Chek มีสีชมพูเนื่องจากเป็นสีที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด และมันก็สวยดี”

งานวิจัยใหม่ของดร.แดเนียล แมคเคอร์รี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย พบโลหะหนักอย่างน้อย 4 ประเภท ได้แก่ โครเมียมและแคดเมียม ในสารหน่วงไฟที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้ ในปริมาณเกิดค่าเกินข้อกำหนดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสามารถก่อให้เกิดมะเร็ง โรคไตและโรคตับในมนุษย์

ข้อมูลของรัฐบาลกลางแสดงให้เห็นว่ามีการใช้สารหน่วงไฟมากกว่า 440 ล้านแกลลอนระหว่างปี 2009-2021 หมายความว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีโลหะหนักมากกว่า 400 ตันถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมจากการดับเพลิง โดยหนึ่งในสามของปริมาณทั้งหมดเกิดทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย

ทั้งนี้ รัฐบาลกลางและผู้ผลิตสารหน่วงไฟอย่าง Perimeter Solutions ออกมาโต้แย้งการวิเคราะห์ดังกล่าว โดยแดน กรีน โฆษกของ Perimeter Solutions กล่าวว่า สารหน่วงไฟที่ทีมวิจัยตรวจสอบเป็นคนละชนิดกับที่ใช้ใน การดับไฟทางอากาศ โดยสารหน่วงไฟที่ใช้ในการดับเพลิงทางอากาศได้ผ่าน การทดสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยในน้ำและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เนินเขาเต็มไปด้วยสารหน่วงไฟสีชมพู
เนินเขาเต็มไปด้วยสารหน่วงไฟสีชมพู
เครดิตภาพ: REUTERS/Ringo Chiu 

เนื่องจากส่วนผสมที่ออกฤทธิ์หลักคือแอมโมเนีย ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของปุ๋ย จึงพบว่าสารหน่วงไฟเหล่านี้สามารถเป็นปุ๋ยชั้นเนี่ยมสำหรับพืชหลังจากเกิดไฟไหม้ ซึ่งจะยิ่งทำให้พืชต่างถิ่นเจริญเติบโตได้ดี ขยายพันธุ์รวดเร็ว และรุกรานการเติบโตของพืชท้องถิ่น อาจทำให้สูญพันธุ์ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผลการค้นพบดังกล่าวช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมความเข้มข้นของโลหะหนักจึงมักเพิ่มขึ้นในแม่น้ำและลำธารหลังจากเกิดไฟป่า บางครั้งเพิ่มขึ้นหลายร้อยเท่า ตัวอย่างเช่น หลังจากที่ไฟไหม้สถานีในเขตป่าสงวนแห่งชาติแอนเจลิสในปี 2009 นักวิจัยได้วัดความเข้มข้นของแคดเมียมที่สูงกว่าในอาร์โรโยเซโคถึง 1,000 เท่า

หากสารหน่วงไฟสีชมพูลงไปแหล่งน้ำ จะสามารถฆ่าปลาแซลมอนได้ แม้จะมีความเข้มข้นน้อยกว่า 1% ของปริมาณที่ใช้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สารหน่วงไฟยังคงเป็นอันตรายต่อปลาแม้จะเจือจางในสภาพแวดล้อมของมันแล้วก็ตาม

ในปี 2022 องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสิ่งแวดล้อม Forest Service Employees for Environmental Ethics ได้ฟ้องรัฐบาลต่อศาลในรัฐมอนทานา และขอให้หน่วยงานระงับการใช้สารหน่วงไฟทางอากาศจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตจากพระราชบัญญัติน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ

ทั้งนี้ผู้พิพากษาตัดสินว่ากรมป่าไม้ต้องขอใบอนุญาต แต่การใช้สารหน่วงไฟเพื่อดับไฟสามารถดำเนินการต่อไปในระหว่างนี้ เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน

อันที่จริงประสิทธิภาพของสาร Phos-Chek ยังคงไม่ชัดเจน เนื่องจากสารหน่วงไฟไม่ใช่วิธีการเดียวที่นักดับเพลิงใช้ ดังนั้นจะบอกว่าเป็นเพราะสารหน่วงไฟทำให้ไฟดับทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ขณะนักวิทยาศาสตร์ของกรมป่าไม้พบว่าประสิทธิภาพของสารหน่วงไฟทางอากาศขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม เช่น ความลาดชัน ประเภทของเชื้อเพลิง ภูมิประเทศ และสภาพอากาศ

ทิโมธี อิงกัลส์บี อดีตนักดับเพลิงป่าและผู้อำนวยการบริหารขององค์กรไม่แสวงหากำไร Firefighters United for Safety, Ethics and Ecology กล่าวกับ LA Times ว่า “สารหน่วงไฟทางอากาศมีประสิทธิภาพในสภาวะแวดล้อมที่แคบ และสภาวะเหล่านี้ก็ลดลงทุกปี เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ”


ที่มา: LAistLos Angeles TimesThe Indian Express The New York TimesUSA Today

ทั่วทั้งเมืองกลายเป็นสีชมพูจากสารหน่วงไฟ

ทั่วทั้งเมืองกลายเป็นสีชมพูจากสารหน่วงไฟ
เครดิตภาพ: REUTERS/Ringo Chiu