พลังงานนิวเคลียร์มาแรง เปิดรายชื่อ 10 ประเทศผู้นำ มีเครื่องปฏิกรณ์มากสุด
![พลังงานนิวเคลียร์มาแรง เปิดรายชื่อ 10 ประเทศผู้นำ มีเครื่องปฏิกรณ์มากสุด](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/02/kPeGR0OFgyO2tpGURD6H.webp?x-image-process=style/LG)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แตกต่างจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ตรงที่สามารถจัดสรรพลังงานได้ ซึ่งหมายความว่า สามารถปรับผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกในการลดการปล่อยมลพิษ
KEY
POINTS
- ปัจจุบัน พลังงานนิวเคลียร์กำลังอยู่ในกระแสภูมิทัศน์พลังงานทั่วโลก
- ผลิตไฟฟ้าปริมาณมหาศาลในขณะที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย
- ประเทศต่างๆ กำลังลงทุนในเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานและบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน
- การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ของโลกจะเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปัจจุบันภายในปี 2050
ในปี ค.ศ. 1954 ประวัติศาสตร์ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อเทคโนโลยีการแตกแยกนิวเคลียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้เพื่อการค้า และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกได้เริ่มดำเนินการในเมืองอ๊อบนินสก์ ประเทศรัสเซีย พลังงานใหม่นี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นรูปแบบของไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือและเสถียรอย่างยิ่ง เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปิดทำการเพื่อเติมเชื้อเพลิงเพียงประมาณทุกสองปีเท่านั้น ทำให้สามารถจัดหาพลังงานฐานที่มั่นคงตลอดเวลา
ในการแตกแยกนิวเคลียร์ (nuclear fission) อะตอมของยูเรเนียมจะถูกแบ่งเป็นองค์ประกอบที่เบากว่า ยูเรเนียมเป็นโลหะกัมมันตภาพรังสีที่ถูกสกัดจากเหมืองในประเทศคาซัคสถาน ออสเตรเลีย และนามิเบีย หลังจากกระบวนการแตกแยกยูเรเนียมแล้ว เชื้อเพลิงที่ใช้แล้วยังคงเป็นกัมมันตภาพรังสีและต้องถูกจัดเก็บในสถานที่จัดเก็บกากนิวเคลียร์หรือตัวเก็บน้ำเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว สถานที่เหล่านี้มักจะอยู่ใต้ดินและต้องใช้กำแพงโลหะหรือคอนกรีตหนาเพื่อป้องกันรังสีจากประชาชน
ปัจจุบัน พลังงานนิวเคลียร์กำลังอยู่ในกระแสภูมิทัศน์พลังงานทั่วโลก ด้วยศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าปริมาณมหาศาลในขณะที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย ประเทศต่างๆ กำลังลงทุนในเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานและบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน
การคาดการณ์ล่าสุดของ สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่า กำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ของโลกจะเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปัจจุบันภายในปี 2050 ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน 32 ประเทศ มีเครื่องปฏิกรณ์ 419 เครื่องที่เดินเครื่องอยู่ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกัน 378.1 กิกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 10 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของโลก นอกจากนี้ มีเครื่องปฏิกรณ์มากกว่า 62 เครื่องที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้มากขึ้นทั่วโลก
ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด
ไม่ใช่ทุกประเทศมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ เพราะมีความท้าทายอย่างมาก เช่น การสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสูงมาก และความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่ก็มีประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวนมาก
ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากที่สุด ณ ปี 2024 (อ้างอิงข้อมูลจาก Statista)
- สหรัฐอเมริกา: 94 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- จีน: 56 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- ฝรั่งเศส: 56 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- รัสเซีย: 36 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- ญี่ปุ่น: 33 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- เกาหลีใต้: 26 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- อินเดีย: 23 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- แคนาดา: 19 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- ยูเครน: 15 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
- สหราชอาณาจักร: 9 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
เหตุผลที่พลังงานนิวเคลียร์มาแรง
5 เหตุผลที่ไม่สามารถมองข้ามพลังงานนิวเคลียร์ได้
1. พลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่สะอาดที่สุด มีภาระสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
2. พลังงานนิวเคลียร์ใช้พื้นที่น้อยกว่าพลังงานประเภทอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ใช้พื้นที่มากกว่า 46 เท่า
3. ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเปลือกโลกและมหาสมุทรมีความอุดมสมบูรณ์มาก
4. พลังงานนิวเคลียร์ไม่พึ่งพาสภาพอากาศ สามารถดำเนินงานได้น่าเชื่อถือ มีความแน่นอน
5. พลังงานไฟฟ้าต่ำคาร์บอน ช่วยชีวิตคนมากมายที่อาจถูกมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
นิวเคลียร์ตอบโจทย์ Data Center ใช้พลังมาก
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นที่ต้องการมากขึ้น คือ การมีบทบาทมากขึ้นของปัญญาประดิษฐ์และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ต้องการพลังการประมวลผลที่สูง บริษัทเทคโนโลยีจึงมองหาพลังงานคาร์บอนต่ำ เพื่อรักษาเป้าหมายความยั่งยืนของธุรกิจไว้ จึงเริ่มลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์ เช่น Microsoft ที่ทำข้อตกลงกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Three Mile Island ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ให้กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในปี 1979 โดยข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 20 ปี
31 ประเทศร่วมผลิตพลังงานนิวเคลียร์เพิ่ม 3 เท่า
การประกาศเป้าหมาย Triple Global Nuclear Capacity by 2050 ถูกเปิดตัวที่ COP28 ที่กรุงดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 ซึ่งเป็นการยอมรับถึงบทบาทสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050 และการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5°C
โดยในปีนั้นได้รับการสนับสนุนจาก 20 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร และต่อมาในการประชุม COP29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน มีประเทศที่เข้าร่วมการเรียกร้องดังกล่าวรวมเป็น 31 ประเทศ
เป้าหมายคือการเพิ่มความสามารถในการ ‘ผลิตพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกสามเท่าภายในปี 2050’ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์