ถอดรหัส NestiFly สินเชื่อ P2P Lending เชื่อมต่อทุกโอกาสการลงทุน
NestiFly ส่ง StockLend by NestiFly ปล่อยระบบการกู้ยืมเงินแบบ P2P Lending ตัวแรก เจาะกลุ่มเจ้าของกิจการ บริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก (SME) เพิ่มทางเลือกการเข้าถึงสินเชื่อและโอกาสลงทุน หวังลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน
ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว "การขอสินเชื่อ" เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นอีกความจำเป็นของผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME แต่ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดบางอย่างของสถาบันการเงินในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก
Alternative Financing จึงเข้ามาเป็นตัวเลือกหรือช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยทางเลือกอื่นๆ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Peer-to-Peer Lending หรือ P2P Lending ที่กำลังแพร่หลายทั่วโลก เป็นธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไป ไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน แต่เป็นการดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้
P2P Lending ให้บริการเต็มรูปแบบในไทย
StockLend by NestiFly โดย บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด หรือ NestiFly ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และภายใต้การกำกับธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อออนไลน์รูปแบบ Peer-to-Peer Lending (P2P) ที่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง อีกทั้งยังผ่านการทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox
พิชิต จงสฤษดิ์หวัง ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของการก่อตั้ง Peer-to-Peer Lending Platform คือการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยบริษัทฯ นำประสบการณ์ในเรื่องการเงินการธนาคารที่มี บวกกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาทำให้เกิดโซลูชันที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยทำงานในรูปแบบกึ่งพันธมิตรร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เรามีการควบคุมดูแลที่เหมาะสมและรัดกุม
"ความเชื่อมั่น" คือสิ่งจำเป็น
เมื่อถามถึงสิ่งที่ NestiFly จะโฟกัสในระยะแรก นอกจากการสร้างความน่าเชื่อถือแล้ว "พิชิต" ย้ำว่า จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคไปพร้อมกันด้วยว่า Peer-to-Peer Lending Platform คืออะไร ใครได้รับประโยชน์จากด้านไหนบ้าง
"P2P Lending ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เราเองมีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์ม ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้ครอบคลุมความต้องการผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากเราเป็นรายแรก จึงมีภารกิจที่จะต้องเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันยอมรับว่า มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในด้านลบหรือหลอกลวงมากขึ้น"
StockLend by NestiFly คืออะไร?
สำหรับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ "StockLend by NestiFly" สินเชื่อ P2P Lending ตัวแรก "พิชิต" กล่าวว่า StockLend เป็นตัวช่วยเปิดโอกาสสำหรับผู้ที่มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สามารถนำหุ้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารถทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ โดยใช้ Smart Contract ผ่านเทคโนโลยี Blockchain เพื่อความปลอดภัยของผู้กู้และสามารถทราบผลอนุมัติภายใน 1 วันทำการ ซึ่งเมื่อระบบ Auto-invest ในแอปพลิเคชัน StockLend by NestiFly สามารถจับคู่ระหว่างผู้กู้กับนักลงทุนได้สำเร็จ นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินกู้และผู้กู้ยังคงมีสิทธิประโยชน์จากหุ้นเหมือนเดิม
"สิ่งที่ StockLend แตกต่างมี 3 เรื่อง อย่างแรกคือ ผู้กู้สามารถนำเงินไปเสริมสภาพคล่องธุรกิจได้ โดยไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องนำเงินบางส่วนนั้นกลับมาลงทุนกับเรา ประเด็นที่ 2 คือเรื่องการเข้าถึง ตราบใดที่มีเครดิตสกอร์จาก NCB (เครดิตบูโร) ดี และมีหุ้นที่ qualify ก็สามารถเข้ามาขอกู้ได้ ประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องของกระบวนการที่เข้าใจง่าย โปร่งใส และรวดเร็ว โดยมีการสร้างบัญชีและยืนยันตัวตน e-KYC ผ่านระบบ NDID ทั้งการโอนหุ้นเข้ามา การเปิดบัญชี และขอสินเชื่อ"
พิชิต กล่าวต่อว่า เพื่อความรัดกุมในการปล่อยกู้และการบริหารจัดการความเสี่ยง จะไม่ได้ให้ปล่อยกู้เต็มวงเงิน โดยจะให้วงเงินสูงสุดเต็มที่ไม่เกิน 60% ของมูลค่าหุ้นที่นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาแบ่งกลุ่มหุ้นด้วยว่า หุ้นแต่ละตัวเป็นกลุ่มหุ้นที่มีศักยภาพความสามารถระดับใด ซึ่งผู้กู้อาจจะได้รับการพิจารณาวงเงินลดหลั่นไปตามศักยภาพของหุ้น เช่น 50% 40% เป็นต้น โดยวิธีการที่ใช้ในการสกรีนก็คือ กระบวนการที่เรียกว่า Back testing เพื่อดูความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ 5 ปีย้อนหลัง และยังมีการติดตามและวิเคราะห์ความผันผวนและสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง หากเห็นว่าหุ้นตัวไหนมีความผันผวนมาก ซึ่งจะมีความสุ่มเสี่ยงสูงสำหรับผู้ปล่อยกู้ จะมีการสกรีนหุ้นตัวนั้นออก หรือหุ้นตัวไหนที่มีการซื้อขายกันน้อย สภาพคล่องต่ำ เราก็ขายได้ลำบาก เนื่องจากในกรณีถ้าเกิดหนี้เสียขึ้น จำเป็นต้องทำการ forced sell หรือขายหลักทรัพย์ค้ำประกัน
"นอกจากนี้ เราดูเรื่องของ fundamental ของหุ้นด้วย ถ้าเป็นหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนเป็นระยะเวลานาน ก็จะไม่รับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงยังมีการจำกัดปริมาณการรับหุ้น โดยพิจารณาหุ้นแต่ละตัวที่เรารับมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันว่ามีปริมาณมากเกินไปหรือไม่ ส่วนตัวผู้กู้เองสิ่งที่เรามองเป็นหลักเลยคือ NCB score หรือเครดิตสกอร์เกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าบุคคล"
สำหรับผู้ให้กู้ หรือ Investor "พิชิต" เผยว่า มี 3 รูปแบบ คือ กลุ่มนักลงทุนรายย่อย (Retail Investors) ซึ่งตามกฎเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย บุคคลธรรมดาสามารถให้กู้ได้ในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมทุกสัญญาไม่เกิน 500,000 บาท กลุ่มนักลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Qualified Investors) จะสามารถปล่อยกู้ได้ไม่จำกัด โดยจะอิงกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ที่สามารถปล่อยกู้ได้ไม่จำกัดเช่นกัน
ผู้กู้และผู้ให้กู้จำเป็นต้องรู้จักกันหรือไม่?
พิชิต อธิบายในเรื่องนี้ว่า ในช่วงที่มีการจับแมตช์คู่ระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ ไปจนถึงการเกิดสัญญาเงินกู้กันแล้ว ช่วงนี้แต่ละฝ่ายจะไม่ทราบข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ระหว่างกัน โดยข้อมูลส่วนบุคคลของทั้งสองฝ่ายจะถูกปิดไว้ ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่จะถูกเปิดเผยข้อมูลต่อเมื่อมีความจำเป็นทางกฎหมาย อาทิ หากมีการผิดชำระหนี้ จึงจะเปิดเผยข้อมูลแก่คู่สัญญา เนื่องจากผู้ให้กู้และผู้กู้เองอาจจะต้องการเจรจาเพื่อทำการประนอมหนี้หรือทำการตกลงการจ่ายชำระหนี้คืนระหว่างกัน
เป้าหมายเราไม่เปลี่ยน
พิชิต เปิดเผยแผนการในระยะยาวว่า ได้เริ่มวางแผนสำหรับผลิตภัณฑ์ในส่วน personal loan ไว้แล้ว คาดว่าจะได้เห็นประมาณไตรมาส 3 หรือ 4 ส่วนเฟสถัดมาอาจจะโฟกัสไปที่กลุ่มธุรกิจในลักษณะของ supply chain โดยทาง NestiFly ยังวางกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยการสรรหาความร่วมมือในรูปแบบ strategic partner กับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ซึ่งมองว่านอกจากจะช่วยเติมเต็มความเชื่อมั่น ยังช่วยลดความเสี่ยงไปด้วย
"วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของ P2P Lending ในประเทศไทย สิ่งที่เรามองคือเราต้องสามารถสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน โดยในการจะทำให้ยั่งยืนนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เราจะไม่ compromise ในเรื่องการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้งานขาดความเชื่อมั่นในแพลตฟอร์ม" พิชิต กล่าวทิ้งท้าย
ศึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line Official Account : @nestifly เว็บไซต์ NestiFly หรือเฟซบุ๊ก คลิกที่นี่