คดีปริศนา แร่นิกเกิลของ JPMorgan เปลี่ยนเป็นก้อนหินธรรมดา!

คดีปริศนา แร่นิกเกิลของ JPMorgan เปลี่ยนเป็นก้อนหินธรรมดา!

แร่นิกเกิลที่ใช้ค้ำประกันการซื้อขายได้สูญหายจากโกดัง และเปลี่ยนเป็นหินธรรมดาแทน เกิดขึ้นจากอะไร และย้ำเตือนถึงความเสี่ยงด้านใดบ้าง

Key Points

  • แร่นิกเกิลถือเป็นตัวค้ำการซื้อขายโภคภัณฑ์ เป็นแร่มีค่าที่ใช้ในอัลลอยด์ เหล็กไร้สนิม แบตเตอรี่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
  • บริษัทซื้อขายโภคภัณฑ์ Trafigura เล่าว่า เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง สูญเงิน 600 ล้านดอลลาร์ สำหรับนิกเกิลที่พอเปิดออกดู กลับไม่ได้มีนิกเกิลอยู่ข้างในเลย
  • ปัญหานิกเกิลหาย ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดซื้อขายนิกเกิล และส่งผลให้ราคานิกเกิลร่วงหนักภายในสัปดาห์เดียว

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า เกิดเรื่องปริศนาขึ้นเมื่อ “แร่นิกเกิล” มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ ที่ใช้เทรดในตลาดซื้อขายโภคภัณฑ์ London Metal Exchange (LME)  ได้กลับกลายเป็นก้อนหินธรรมดาแทน

 

คดีปริศนา แร่นิกเกิลของ JPMorgan เปลี่ยนเป็นก้อนหินธรรมดา!

-ธนาคาร JPMorgan (เครดิต: AFP) -

 

นิกเกิลที่เปลี่ยนเป็นหินนี้ถูกเก็บไว้ในโกดังของบริษัท Access World ที่ช่วยดูแลแร่นี้ให้ธนาคาร JPMorgan ในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

จากเหตุการณ์ชวนน่าสงสัยนี้ ทำให้ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานโกดังจากเมืองปูซาน เกาหลีใต้ไปจนถึงเมืองเจนัวในอิตาลี ต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบแร่นิกเกิลในโกดังตัวเองหลายหมื่นกระสอบ โดยตรวจผ่านการเทียบเคียง ไม่ว่าจะเป็นการชั่งน้ำหนัก และสแกนกระสอบ

ทั้งนี้ สัญญาณผิดปกติเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 บริษัทซื้อขายโภคภัณฑ์ที่ชื่อ Trafigura Group และ Stratton Metals ซื้อนิกเกิลจากโกดังในเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยโกดังดังกล่าวจดทะเบียนในตลาดซื้อขายโภคภัณฑ์ LME

เมื่อสินค้าส่งมาถึง กลับพบว่า “น้ำหนัก” ไม่ตรงกับสิ่งที่บันทึกไว้ในเอกสารและเมื่อเปิดดูข้างใน ก้อนนิกเกิลที่ควรจะต้องเจอ ก็กลับเป็นเพียงแค่ก้อนหิน! 

เจ้าหน้าที่จึงลงตรวจสอบโกดังในร็อตเตอร์ดัมเพิ่มเติม และพบว่า นิกเกิลที่เจพีมอร์แกนซื้อไว้ผ่าน LME ทั้งหมด 9 สัญญา มูลค่า 1.3 ล้านดอลลาร์ ก็ไร้ค่าในพริบตา เพราะกลายเป็นหินเช่นเดียวกัน

ขณะนี้มีสองสมมติฐานในการอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าว หนึ่งคือ กระสอบนั้นเต็มไปด้วยหินมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะเข้ามาเก็บในโกดังแห่งนี้
และสอง ใครบางคนแอบย่องเข้ามาในโกดัง และสับเปลี่ยนนิกเกิลเป็นหินแทน

ตอนนี้บริษัทดูแลโกดังอย่าง Access World เชื่อในสมมติฐานที่ 2 เพราะกระสอบใดก็ตามที่จะถูกจัดเก็บในโกดังต้องผ่านการชั่งน้ำหนักก่อน

ปริศนาดังกล่าวไม่แน่ว่า อาจเกิดจากแร่นิกเกิลช่วงนี้ราคาสูง จึงเป็นที่ดึงดูดจากพวกหัวขโมย

นอกจากนี้ บริษัทซื้อขายโภคภัณฑ์ Trafigura ที่ตั้งใจซื้อนิกเกิล แต่ข้างในเป็นหินแทนยังเล่าว่า เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทยังเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงทางระบบ ต้องสูญเงิน 600 ล้านดอลลาร์สำหรับตู้สินค้านิกเกิล ซึ่งไม่ได้มีนิกเกิลอยู่ข้างในเลย

และในปี 2560 หลายธนาคารก็สูญเงินมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ เมื่อพบว่าเอกสารที่ระบุสินค้าภายในโกดังเป็นของเท็จ ซึ่งสินค้านั้นเป็นนิกเกิลที่ถูกจัดเก็บในโกดังของบริษัท Access World แถบเอเชีย

เรื่องนี้กลายเป็นโจ๊กในหมู่นักเทรดแร่โลหะ เพราะปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ ก็เคยถูกจดบันทึกในกระดานดินเหนียวมายาวนานในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ โดยเล่าว่า ในอดีตก็เคยเกิดกรณีนี้เช่นกันที่จำนวนแร่จริงอย่างทองแดงที่ค้ำสัญญาไม่สัมพันธ์กับจำนวนและคุณภาพแร่ที่ซื้อขายกันบนหน้ากระดาษ

ในปัจจุบัน การซื้อขายโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแร่นิกเกิล ทองเเดง ซิงค์ เกิดขึ้นในระบบ LME และมันถูกค้ำประกันโดยแร่จับต้องได้ที่ถูกจัดเก็บในโกดังต่าง ๆ ทั่วโลก

ไซมอน คอลลินส์ (Simon Collins) อดีตหัวหน้าบริษัทซื้อขายโภคภัณฑ์ Trafigura และซีอีโอแพลตฟอร์ม TradeCloud กล่าวว่า “ราคาโลหะที่สูงนี้ ทำให้เป็นเป้าหมายโดยธรรมชาติของการโกงและลักขโมย บริษัทโภคภัณฑ์ควรปกป้องมันผ่านกระบวนการที่เข้มงวด และอาศัยเทคโนโลยี”

เรื่องชวนปวดหัวของการสืบสวนคือ ยังระบุไม่ได้ว่าเรื่องนิกเกิลหายนี้เกิดขึ้นเมื่อใด เนื่องจากตัวแร่นี้ถูกขนเก็บไว้ในโกดังเมื่อหลายปีที่แล้ว

บางทีมันอาจหายไปโดยไม่ทันสังเกตเมื่อหลายปีที่แล้วก็ได้ เพราะว่าการเก็บนิกเกิลจะต่างจากอะลูมิเนียมและทองแดง โดยนิกเกิลจะไม่ได้เปิดดูข้างในถุง เพียงแค่ตรวจตรงจุดซีลล็อก ว่าไม่มีการเปิดเท่านั้น

แม้ว่าปัญหานิกเกิลหายจะเป็นจำนวนที่ยังน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนกระสอบนิกเกิลทั้งหมด แต่ก็สั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดซื้อขายนิกเกิลนี้ จึงส่งผลให้ในสัปดาห์เดียวล่าสุด ราคานิกเกิลก็ร่วงต่ำอย่างมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งตอกย้ำความเสี่ยงการเทรดโภคภัณฑ์ ที่จำนวน และคุณภาพโภคภัณฑ์ที่ระบุในสัญญาซื้อขาย อาจไม่ตรงกับสิ่งที่บริษัทถืออยู่จริงก็เป็นได้

อ้างอิง: bloomberg