ค่าเงิน ‘เรียล-กีบ’ ติดลิสต์ 5 สกุลเงิน ‘มูลค่าต่ำที่สุดในโลก’
ท่ามกลางวิกฤติค่าเงินกีบของลาวที่อ่อนค่าลงอย่างหนักแล้ว ยังมีสกุลเงินใดอีกบ้างที่อ่อนค่าต่ำที่สุดคล้ายกัน และแต่ละประเทศมีภูมิหลังอย่างไร
Key Points
- หลังจากอิหร่านถูกคว่ำบาตรจากเหล่าชาติตะวันตก ซึ่งนำโดยสหรัฐ ทำให้อิหร่านขาดรายได้ทางการค้าจากตลาดตะวันตก
- บริษัทอสังหาฯรายใหญ่อันดับ 2 ของเวียดนาม ‘No Va Land’ ไม่สามารถชำระหุ้นกู้ที่ครบอายุไถ่ถอนเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2566
- เซียร์ราลีโอน ประเทศแถบทวีปแอฟริกาตะวันตก เคยเผชิญโรคระบาดอีโบลาที่คร่าชีวิตผู้คนไปราว 4,000 คนในช่วงปี 2557 ถึง 2558
“ลาว” ประเทศบ้านพี่เมืองน้องไทย เกิดวิกฤติเงินกีบอ่อนค่า โดยวันที่ 9 ก.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 1 ดอลลาร์แลกได้ 19,725 กีบ นับเป็นการอ่อนค่าลงราว 25% ในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นในช่วงแรกของสงครามรัสเซียกับยูเครน ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลาวนำเข้าสูงขึ้นตาม การที่ต้องใช้เงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นในการซื้อพลังงาน ทำให้ลาวไม่มีดอลลาร์เพียงพอในการชำระหนี้ต่างประเทศ จนทำให้หนี้สาธารณะและหนี้ต่างประเทศของลาวสูงขึ้น
นอกจากค่าเงินลาวจะอ่อนค่ารุนแรงแล้ว ข้อมูลในวันที่ 9 ก.ย. 2566 พบว่า มีสกุลเงินอื่นที่มีมูลค่าต่ำใกล้เคียงกับเงินกีบ และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียน ใกล้ประเทศไทยดังนี้
- 1. เรียล ของอิหร่าน (IRR) (1 ดอลลาร์เท่ากับ 42,265 เรียล)
อิหร่าน ในอดีตเคยเป็นแหล่งอารยธรรมเปอร์เซียอันรุ่งเรือง แต่ในปัจจุบัน อิหร่านถูกคว่ำบาตรจากเหล่าชาติตะวันตก ซึ่งนำโดยสหรัฐ จากการที่อิหร่านพยายามดำเนินโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ การถูกคว่ำบาตรนี้ทำให้อิหร่านขาดรายได้ทางการค้าจากตลาดตะวันตก และชาวต่างชาติทยอยถอนการลงทุนออก
นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว อิหร่านยังเผชิญกระแสประท้วงใหญ่ของประชาชนในประเทศ จากเหตุเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงชาวเคิร์ดในอิหร่าน วัยเพียง 22 ปี หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยศีลธรรมจับกุม เพราะเธอไม่ได้สวมฮิญาบปกคลุมศีรษะ
- 2. ด่อง ของเวียดนาม (VND) (1 ดอลลาร์เท่ากับ 24,057 ด่อง)
เวียดนามเป็นประเทศที่ปกครองแบบสังคมนิยม อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลกลาง และเป็นประเทศโตเร็วที่ดึงดูดบรรดาต่างชาติเข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ตาม เวียดนามเผชิญวิกฤติสภาพคล่องด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างหลายรายผิดนัดชำระหุ้นกู้ บางส่วนเลื่อนการชำระหนี้ออกไป โดยเฉพาะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของเวียดนาม ‘No Va Land’ ไม่สามารถชำระหุ้นกู้ที่ครบอายุไถ่ถอนเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
อีกทั้งเวียดนามยังเผชิญปัญหาหนี้เสียตามมา ที่การผิดนัดชำระหนี้กลุ่มหนึ่ง ได้ทำให้เกิดการผิดนัดต่อเนื่องในกลุ่มอื่น ๆ ตามมา
- 3. ลีโอน ของเซียร์ราลีโอน (SLL) (1 ดอลลาร์เท่ากับ 19,750 ลีโอน)
เซียร์ราลีโอน ประเทศแถบทวีปแอฟริกาตะวันตก เคยเผชิญสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มกบฏและรัฐบาลนานกว่า 10 ปีตั้งแต่ปี 2534 มีสตรีหลายพันชีวิตถูกข่มขืนและผู้คนเสียชีวิตเป็นหลักหมื่น อีกทั้งยังเผชิญโรคระบาดอีโบลา ที่คร่าชีวิตผู้คนไปราว 4,000 คนในช่วงปี 2557 ถึง 2558
ปัจจุบัน ค่าเงินของเซียร์ราลีโอนยังไม่ฟื้น เนื่องจากประเทศเผชิญเงินเฟ้อสูงมาตลอด โดยเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ส.ค. 2566 สูงถึง 43% กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันค่าเงิน
- 4. กีบ ของลาว (LAK) (1 ดอลลาร์เท่ากับ 19,725 กีบ)
ลาวเป็นประเทศที่มีหนี้สินต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะจากจีน และท่ามกลางดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ลาวต้องจ่ายค่าน้ำมันนำเข้าที่ซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์แพงขึ้นตามไปด้วย จนประสบปัญหาขาดดุลทางการค้าในเดือน ก.ค. 2566 สูงถึง 166 ล้านดอลลาร์ สวนทางกับยอดส่งออกที่ค่อนข้างเท่าเดิมหรือลดลง
- 5. รูเปียห์ ของอินโดนีเซีย (IDR) (1 ดอลลาร์เท่ากับ 15,381 รูเปียห์)
อินโดนีเซียเผชิญทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง จากเดือน ก.ค. อยู่ที่ 137,700 ล้านดอลลาร์ ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 137,100 ล้านดอลลาร์ในเดือน ส.ค. เพื่อใช้หนี้ต่างประเทศและรักษาเสถียรภาพค่าเงิน
นอกจากนั้น อินโดนีเซียยังมีภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นจากโครงการใหญ่อย่าง รถไฟความเร็วสูงมูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์ ความยาว 142 กิโลเมตรระหว่างกรุงจาการ์ตากับเมืองบันดุง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือน ต.ค. นี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีนและงบประมาณของรัฐบาลอินโดนีเซีย
อ้างอิง: bangkokbiznews, bangkokbiznews(2), manilatimes, bangkok, bloomberg,
tradingeconomics, tradingeconomics(2), cnbc