'ริงกิต' มาเลเซียอ่อนค่าต่ำสุดรอบ 25 ปี เท่ากับช่วงวิกฤติ 'ต้มยำกุ้ง'

'ริงกิต' มาเลเซียอ่อนค่าต่ำสุดรอบ 25 ปี เท่ากับช่วงวิกฤติ 'ต้มยำกุ้ง'

ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 25 ปี เทียบเท่ากับช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง หนักสุดในภูมิภาคเป็นรองแค่ 'เงินเยน' ของญี่ปุ่น

บลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าลงในวันนี้อีก 0.5% อยู่ที่ 4.7703 ริงกิตต่อดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับที่อ่อนค่าหนักที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ค่าเงินเอเชียในปี 2541 และกลายเป็นค่าเงินที่มีผลประกอบการแย่ที่สุดในเอเชียเป็นรองแค่ค่าเงินเยน ของญี่ปุ่นเท่านั้น

ปัจจัยลบของค่าเงินมาเลเซียครั้งนี้ นอกจากจะเป็นผลกระทบของสงครามในอิสราเอลที่ทำให้นักลงทุนโยกเงินเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกันมากขึ้น และนโยบายสายเหยี่ยวของธนาคารกลางสหรัฐเรื่องแนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้น และนานขึ้นแล้ว (Higher for longer) ก็ยังมาจากปัญหาพื้นฐานในมาเลเซียเอง ทั้งการส่งออกที่ย่ำแย่ และการที่แบงก์ชาติมาเลเซียส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

ตัวเลขการส่งออกของมาเลเซียปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือนก.ย. โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจีน ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ที่ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง

ขณะที่ธนาคารกลางของมาเลเซียก็ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่มาตั้งแต่เดือนก.ค. เป็นต้นมา ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3% ซึ่งยิ่งเป็นผลลบต่อค่าเงินริงกิต เนื่องจากทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของมาเลเซียกับดอกเบี้ยสหรัฐถ่างกันมากที่สุดทุบสถิติ จึงทำให้การลงทุนตลาดมาเลเซียมีความน่าดึงดูดน้อยลง

นอกจากนี้ ดัชนีเงินเฟ้อของมาเลเซียในเดือนส.ค. ยังปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2% ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนในมาเลเซียหลังปรับเงินเฟ้ออยู่ที่ 1% และอาจลดลงอีกหากรัฐบาลออกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานมาช่วยประชาชน ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากขึ้น 

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางอินโดนีเซียเพิ่งประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเหนือคาดหมาย โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน อีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 6% ซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019  

เพอร์รี วาจิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินทั่วโลกทำให้จำเป็นต้องออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นมารับมือกับผลกระทบ โดยความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และนานขึ้นในสหรัฐ อาจทำให้ภาวะเงินทุนไหลออกยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4 

ดังนั้น แบงก์ชาติจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินรูเปียห์ท่ามกลางความผันผวนที่สูงขึ้นในตลาดโลก และยังถือเป็นมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น  

ทางด้านค่าเงินรูเปียห์ดีดตัวขึ้นมาจนอ่อนค่าน้อยลงกว่าเดิม โดยอ่อนค่า 0.5% อยู่ที่ 15,815 รูเปียห์ต่อดอลลาร์ ขณะที่บอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี ปรับตัวขึ้น 0.09% และดัชนีตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียปรับตัวลง 1.2% 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์