กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ : บล.เคจีไอฯ แกว่งลงต่อ ความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศยังมีอยู่มาก
ภาพรวมยังมีแรงกดดันจากดอกเบี้ยพันธบัตรที่ยืนสูง และปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ยังมีความไม่แน่นอน ในสัปดาห์ที่แล้ว (16 – 20 ตุลาคม) ตลาดหุ้นไทยอ่อนแอเกินคาด และ ปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบสามสัปดาห์
ทั้งนี้ ตั้งเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง และ ความเห็นที่ค่อนไปทาง hawkish จากนาย Jerome Powell ประธาน Fed เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ กระแสข่าวเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังเป็นเชิงลบ โดยยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวทางการหาเงินทุนสำหรับมาตรการกระตุ้นผ่าน digital wallet ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของเดือนตุลาคมอยู่ที่ประมาณ1.0 ล้านคน ซึ่งแสดงถึงโมเมนตัมที่เฉื่อยลง ทั้งนี้ หุ้น
กลุ่มที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย อย่างเช่น สาธารณูปโภค และ ไฟแนนซ์ ยังคง under-perform ตลาดอยู่ในขณะที่หุ้นธนาคารไทย outperform หุ้นกลุ่มอื่น เนื่องจากผลประกอบการของธนาคารใหญ่ส่วนใหญ่ใน 3Q66 แข็งแกร่ง
สำหรับในสัปดาห์นี้ (24 – 27 ตุลาคม) เรามองว่าดัชนี SET จะยังคงเคลื่อนไหวแบบ sideways down ถึงแม้ว่าตลาดจะดูเหมือนอยู่ในเขต oversold และอาจจะดีดตัวกลับได้บ้างระหว่างสัปดาห์ แต่เรามองว่า ยังคงไม่มีปัจจัยกระตุ้นด้านบวกที่จะหนุนให้ตลาดฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และ ไทย ยังคงอยู่ในระดับสูง และน่าจะสูงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าตัวเลข GPD 3Q66 ของสหรัฐ และตัวเลขสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐจะออกมาแข็งแกร่ง นอกจากนี้ สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอล และฮามาสยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ เมื่ออิงจากโมเดลการคำนวณ earnings yield gap (EYG) ของประเทศไทย โดยใช้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ 3.40% และระดับ EYG ระยะยาวที่ 4.1% เรามองว่าดัชนีอาจจะแกว่งตัวลงไปได้ถึง 1,360 จุดก่อนที่ตลาดจะเริ่มนิ่ง
ติดตามตัวเลข GDP 3Q66 ของสหรัฐ, อัตราเงินเฟ้อ PCE และ การตัดสินนโยบายการเงินของ ECB
ปัจจัยต่างประเทศ: ทางด้านของสหรัฐ ตัวเลขสำคัญที่จะส่งผลกับตลาดได้แก่ i) GDP 3Q66 ในวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่ง consensus ประเมินไว้ที่ 4.2% QoQ SAAR แต่ GDP tracker model ของ Fed ประเมินไว้แข็งแกร่งมากที่ 5.4% ii) ตัวเลขเงินเฟ้อ core PCE เดือนกันยายนในวันที่ 27 ตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.7% YoY ชะลอลงจาก 3.9% YoY ในเดือนสิงหาคม ส่วนในยุโรป ECB จะประชุมเพื่อตัดสินนโยบายการเงินในวันที่ 26 ตุลาคม โดยนักเศรษฐศาสตร์ของเรา และ consensus คาดว่า ECB จะคงอัตรา refinancing rate เอาไว้เท่าเดิมที่ 4.50%
ปัจจัยในประเทศ: ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เรามองว่าปัจจัยมหภาคโลกจะเป็นตัวหลักที่กำหนดทิศทางของตลาดในสัปดาห์นี้ ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศดูเงียบ ๆ ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง หลังจากที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนการจัดหาเงินทุน 5.60 แสนล้านบาทสำหรับมาตรการ digital wallet
หุ้นกลุ่มธนาคาร และ หุ้น defensive อย่างเช่น โรงพยาบาล ยังดูเด่นในช่วงสั้น
เนื่องจากเรายังคงมองแนวโน้มตลาดแบบระมัดระวัง เราจึงคิดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารของไทย และ หุ้น defensive ยังคงเป็นหุ้นเด่นสำหรับเก็งกำไรในสัปดาห์นี้ โดยผลประกอบการของธนาคารใหญ่เกือบทุกแห่ง ยกเว้น SCB* ออกมาแข็งแกร่งเกินคาดใน 3Q66 เนื่องจาก NIMs แข็งแกร่ง ซึ่งในกลุ่มนี้ เราชอบ BBL* และ KBANK* สำหรับหุ้น defensive เรายังคงชอบกลุ่มโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่คาดว่าผลประกอบการ 3Q66 จะออกมาแข็งแกร่ง อย่างเช่น BDMS* และ BH*