ก.ล.ต.ไฟเขียวบลจ.ตั้ง Thai ESG ได้ทันที เปิดขายพร้อมกัน 22 กองทุน 8 ธ.ค.นี้
ก.ล.ต. ออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการ Thai ESG มีผล 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และสมาชิกประสงค์จะเสนอขายพร้อมกันในวันแถลงข่าวเปิดตัวกองทุนรวม Thai ESG ชุดแรก จำนวน 22 กองทุน จาก บลจ. 16 แห่ง ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้ออกประกาศเพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน รวม 11 ฉบับ โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ซึ่งมีผลให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) สามารถจัดตั้งกองทุนรวม Thai ESG ได้ทันที
ในเบื้องต้น ก.ล.ต. ได้รับคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม Thai ESG ชุดแรก จำนวน 22 กองทุน จาก บลจ. 16 แห่ง โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และสมาชิกประสงค์จะเสนอขายพร้อมกันในวันแถลงข่าวเปิดตัวกองทุนรวม Thai ESG อย่างเป็นทางการที่ กรมสรรพากร ก.ล.ต. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) AIMC และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะร่วมกันจัดขึ้น ในวันที่ 8 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ กองทุนรวม Thai ESG เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินด้านความยั่งยืนที่มีความหลากหลายที่ผู้ออกทรัพย์สินนั้นเป็นภาครัฐหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทย โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวได้ตั้งแต่ปีภาษี 2566 นี้
ก.ล.ต. สนับสนุนให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของแต่ละกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน โดยกองทุนรวม Thai ESG จะต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) ด้วย โดยเมื่อกองทุนรวม Thai ESG ได้รับการจดทะเบียนเป็นกองทรัพย์สินแล้ว ผู้ลงทุนจะสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://sustainablefinance.sec.or.th/Fund
อนึ่ง ผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนในกองทุน Thai ESG มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน รวมทั้งเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน