รู้จัก ‘Rai Stone’ เงินตราโบราณ ใหญ่เท่ากำแพง หนักถึง 4 ตัน

รู้จัก ‘Rai Stone’ เงินตราโบราณ ใหญ่เท่ากำแพง หนักถึง 4 ตัน

“Rai Stone” หรือ “หินไร” เงินตราสมัยโบราณที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แม้มีขนาดใหญ่เท่ากำแพง และหนักถึง 4 ตัน แต่ก็มีค่าดั่งเงินตราในปัจจุบัน จนอดสงสัยไม่ได้ว่ามีวิธีเปลี่ยนมือ และแสดงความเป็นเจ้าของกันอย่างไร

Key Points

  • เงินไร” (Rai Stone) เป็นเงินตราสมัยโบราณของชนเผ่าในเกาะแยป ซึ่งในปัจจุบันเป็นประเทศไมโครนีเซียที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปาปัวนิวกินี
  • เส้นผ่านศูนย์กลางของหินไร มีตั้งแต่ 7 เซนติเมตรไปจนถึง 3.6 เมตร ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น
  • เกาะที่เป็นแหล่งสกัดหินเพื่อทำเงินไร คือ “เกาะปาเลา” (Palau Island) อยู่ห่างจากเกาะแยปราว 400-450 กิโลเมตร หรือใกล้เคียงระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดชุมพร


ในยุคโบราณ มนุษย์กลุ่มหนึ่งเคยใช้หินทรงกลม มีเจาะรูไว้ตรงกลาง และใหญ่เท่ากำแพง อีกทั้งหนักมากถึง 4 ตันแทนเหรียญเงินตรา ซึ่งเรียกว่า “เงินไร” (Rai Stone) เงินตราสมัยโบราณอายุกว่า 500 ปีของชนเผ่าในเกาะแยป (Yap Island) ซึ่งในปัจจุบันเป็นประเทศไมโครนีเซียที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปาปัวนิวกินี

รู้จัก ‘Rai Stone’ เงินตราโบราณ ใหญ่เท่ากำแพง หนักถึง 4 ตัน

- Rai Stone อายุกว่า 500 ปี (เครดิต: Eric Guinther) - 

เงินตราที่ยักษ์ใหญ่ขนาดนี้ สร้างความฉงนสงสัยแก่นักสำรวจ และผู้พบเห็นอย่างมาก เพราะหลักสำคัญของเงินตราคือ ต้องทำให้มีขนาดเล็ก พกพาง่าย และใช้จ่ายสะดวก แต่หินไรนี้กลับเทอะทะ และหนักมากด้วย เหตุใดพวกเขาถึงสร้างเงินตราลักษณะนี้ไว้ และยังใช้งานยาวนานถึงหลายร้อยปี

เริ่มต้นจากใน “เกาะแยป” แม้เกาะแห่งนี้จะอุดมสมบูรณ์ มีหนองน้ำ ป่าชายเลน และปะการังอันงดงาม แต่ภายในเกาะกลับไม่มีหินที่แข็งพอ และไม่มีโลหะที่พอจะผลิตเป็นเงินตราได้

เงินตราที่ชาวเกาะใช้ดั้งเดิมนั้นเป็น “ไข่มุกเปลือกหอย” ที่เรียกว่า “ยาร์” (Yar) แต่เมื่อชาวแยปกลุ่มหนึ่งได้ลองออกไปสำรวจนอกเกาะ ซึ่งเกาะที่อยู่ใกล้มากที่สุดเกาะหนึ่งก็คือ “เกาะปาเลา” (Palau Island) อยู่ห่างจากเกาะแยปราว 400-450 กิโลเมตร หรือใกล้เคียงระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดชุมพร

รู้จัก ‘Rai Stone’ เงินตราโบราณ ใหญ่เท่ากำแพง หนักถึง 4 ตัน - ที่ตั้งเกาะแยป (เครดิต: Google Map) -

สิ่งที่พวกเขาพบเป็น “หินปูน” (Limestone) ที่แข็งแกร่ง และมีค่า เพราะไม่ค่อยพบเห็นในเกาะของตัวเอง จึงนำมาสกัดเป็นก้อนทรงต่างๆ และขนส่งผ่านแพไม้ไผ่ และเรือใบจากเกาะปาเลาไปยังเกาะแยป เพื่อใช้เป็น “เงินตรา

ในช่วงแรก เงินหินที่สกัดออกมาไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่ากำแพง แต่เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีนักสำรวจต่างชาติไปพบเกาะแห่งนี้ พวกเขาสอนชาวเกาะเรื่องการสกัดหินให้ง่ายขึ้น และแนะนำเครื่องมือโลหะด้วย จึงทำให้เงินหินรุ่นต่อมามีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนหนักมากถึง 4 ตัน  

รู้จัก ‘Rai Stone’ เงินตราโบราณ ใหญ่เท่ากำแพง หนักถึง 4 ตัน

- หินไรมีการเจาะรูตรงกลางสำหรับเสียบแท่งไม้ เพื่อความสะดวกในการขน (เครดิต: TTPI) -

  • หินไรแต่ละก้อน ตีมูลค่าอย่างไร

การกำหนดมูลค่า “เงินหินไร” หรือ “Rai Stone” เป็นหน้าที่ของหัวหน้าเกาะ เชื้อเชิญให้ชาวเกาะราวหลักพันคนมาร่วมประชุมกัน ตั้งชื่อให้หินไรแต่ละก้อน และร่วมกำหนดว่าควรมีมูลค่าเท่าไร โดยพิจารณาจากเรื่องราวของหิน

ถ้าหินนั้นถูกขนส่งจากเกาะปาเลาด้วยความยากลำบาก ผ่านพายุ และอันตรายมามากมาย ผ่านมือผู้ใดเป็นเจ้าของ ยิ่งหินนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และทรงคุณค่า มูลค่าของหินก้อนนั้นก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความสวยงามของฝีมือการแกะสลัก รวมถึงขนาดของหิน ก็สำคัญต่อมูลค่า ซึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางของหินมีตั้งแต่ 7 เซนติเมตร ไปจนถึง 3.6 เมตร ยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น เหล่าผู้มั่งคั่งในเกาะมักนำหินยักษ์เหล่านี้มาวางไว้หน้าบ้านของตัวเอง เพื่ออวดความมั่งมี

สำหรับการใช้งานเงินไร อันที่จริงแล้ว เมื่อเงินหินนี้มาถึงเกาะแยป มักจะถูกตั้งทิ้งไว้ และไม่ขนไปขนมาอีก เพราะอาจทำให้หินได้รับการกระทบกระเทือนจนแตกหักได้ การเปลี่ยนมือเจ้าของหินใดๆ จะทำในวงประชุมของหมู่บ้าน ประกาศให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน โดยไม่จำเป็นต้องขนย้ายหินแต่อย่างใด

ฟาลเมด (Falmed) ซึ่งบรรพบุรุษของเขาเป็นชนเผ่าแยปเล่าว่า ครอบครัวของเขาเคยใช้หินไร เพื่อแสดงการขอโทษต่อลูกสาวของผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เกี่ยวกับเรื่องที่พี่ชายของเขาทำให้งานวิวาห์ล่ม และท้ายที่สุด ลูกสาวของเขาก็ยอมรับคำขอโทษด้วยหินนี้

หากใครได้ไปท่องเที่ยวที่เกาะแยปแห่งนี้ จะพบเงินหินไรราวหลายร้อยก้อน ตั้งอยู่หลายจุดทั่วทั้งเกาะ ไม่ว่าในป่าลึก ริมชายหาด หรือแม้แต่ใต้ทะเล มีเรื่องเล่าจากชนเผ่าในเกาะสืบต่อกันมาว่า ต่อให้ระหว่างการขนหินไร เกิดอุบัติเหตุจนหินตกท้องทะเลไป หินก้อนนั้นก็ยังสามารถแลกเปลี่ยน และอ้างความเป็นเจ้าของได้เหมือนเดิม แม้จะอยู่ใต้ท้องทะเลก็ตาม ถ้าหากได้รับความเห็นชอบจากวงประชุมในเกาะ และสามารถชี้จุดหินตกได้

  • ปัจจุบัน ชาวแยปยังใช้เงินไรอยู่หรือไม่

เมื่อกาลเวลาผ่านไป เหล่าประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐได้บุกล่าอาณานิคมทั่วทวีปเอเชีย โดยสหรัฐได้ครอบครองเกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเกาะแยปนี้ กระแสการใช้ธนบัตรจึงแพร่สะพัดไปถึงผู้คนในเกาะ จนในที่สุด การใช้เงินไรก็ค่อยๆ เสื่อมหายไป และถูกแทนที่ด้วยเงินดอลลาร์แทน

ถึงแม้จะกลายเป็นเงินตราในอดีต แต่ “หินไร” หรือ Rai Stone เหล่านี้ ถือเป็นอนุสาวรีย์อันล้ำค่าของคนรุ่นหลัง เพราะแต่ละก้อนแฝงด้วยความทรงจำอันยาวนาน ตกทอด และเปลี่ยนมือจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งเป็นสิ่งอัศจรรย์ใจจนถึงทุกวันนี้ แม้มีขนาดใหญ่ และหนักหลายตัน แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มั่นคง และหาได้ยากในเกาะแล้ว ก็สามารถกลายเป็นของมีค่า หรือ “เงิน” ขึ้นมาได้

อ้างอิง: collectionsbbcthevintagemedium

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์