‘เวอร์ชวลแบงก์’ ระบบต้องไร้ ‘รอยรั่ว’
ระบบนิเวศต่างๆ ที่รายล้อมเวอร์ชวลแบงก์ต้องพร้อมเกิน 100% ไปหลายเท่า อย่ารีบทำเพียงเพราะอยากได้ถ้วย เพราะถ้ามี “รอยรั่ว” แค่เพียงรอยเดียว จากจุดเปลี่ยนอาจกลายเป็นจุดจบก็ได้ .......
เวอร์ชวลแบงก์ หรือ ธนาคารไร้สาขา ว่ากันว่าคือจุดเปลี่ยนของระบบการเงินที่มีความท้าทายสูงมาก วันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดให้ผู้ที่สนใจตั้งเวอร์ชวลแบงก์ ได้เข้ามารับฟังเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ฯ การขอและการออกใบอนุญาต เวอร์ชวลแบงก์ที่ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรม เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน ปูทางสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน
ไทม์ไลน์ตั้งเวอร์ชวลแบงก์ วันที่ 20 มี.ค.2567 คือ วันรับสมัครไปจนถึงปิดรับสมัครวันที่ 19 ก.ย.2567 จากนั้นแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังจะพิจารณาคุณสมบัติใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ตามไทม์ไลน์คาดว่า เดือน มิ.ย.2568 จะประกาศรายชื่อ เตรียมความพร้อมและคาดว่าปี 2569 ประมาณเดือน มิ.ย.เวอร์ชวลแบงก์จะเริ่มให้บริการ
จุดประสงค์ของเวอร์ชวลแบงก์ จะมุ่งเน้นบริการทางการเงินกับ 1.ผู้ไม่มีรายได้ประจำและเอสเอ็มอี 2.กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ 3.กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และ 4.กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ
นิยามของเวอร์ชวลแบงก์แตกต่างไปตามแต่ละประเทศ หากอ้างอิงตามนิยามแบงก์ชาติ ธนาคารในลักษณะดังกล่าวคือ“ธนาคารที่ทำธุรกิจบนดิจิทัลเต็มรูปแบบ”โดยมีลักษณะเด่นทั้งหมด 2 อย่างคือ 1. เป็นธนาคารที่ไม่มีสาขา ไม่มีตู้เอทีเอ็ม (ATM) แต่สามารถมีสำนักงานใหญ่ได้ 2. ธนาคารที่เข้ามาขออนุญาตจำเป็นต้องให้บริการทางการเงินบนระบบดิจิทัล ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำแบบเต็มรูปแบบ
เวอร์ชวลแบงก์ ต่างจาก โมบายแบงกิ้ง เวอร์ชวลแบงก์หัวใจสำคัญ คือ“ธนาคารไร้สาขา”การไม่มีสาขาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์หลุดออกจากกรอบการทำงานแบบเดิม คือ จำนวนคนลดลง กระบวนการสั้นขึ้น การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น
ขณะที่ การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง ยังต้องอาศัยการดำเนินการผ่านสาขาธนาคาร หากดูความเคลื่อนไหว กลุ่มธุรกิจที่สนใจ เวอร์ชวลแบงก์ก็มี 3 กลุ่มทุนใหญ่ตามที่สื่อรายงานไปก่อนหน้านี้
สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้กำกับนโยบายการเงินการคลังประเทศ แม้เราจะเข้าใจตรงกันว่า วันนี้โลกไม่สามารถทัดทานความว่องไวของเทคโนโลยีที่ไหลบ่า ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องปรับตาม
ทุกการเปลี่ยนแปลงมักมีเรื่องราวดีดีซ่อนอยู่ หากต้องระวังเรื่องราวร้ายๆ เอาไว้ด้วย ยิ่งในยุคเฟื่องฟูของมิจฉาชีพ ระบบเทคโนโลยีต่อให้เก่งกาจขนาดไหน “แฮกเกอร์ก็เจาะได้”
ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยต้องถกกันให้ชัด กฎหมาย กฎระเบียบต้องเอื้อ ระบบนิเวศต่างๆ ที่รายล้อมเวอร์ชวลแบงก์ต้องพร้อมเกิน 100% ไปหลายเท่า อย่ารีบทำเพียงเพราะอยากได้ถ้วย เพราะถ้ามี “รอยรั่ว” แค่เพียงรอยเดียว จากจุดเปลี่ยนอาจกลายเป็นจุดจบก็ได้ .......