เปิดโลก Virtual Bank ต่างประเทศ ทำไมโค่นแบงก์เก่าได้ แต่ทำไมหลายรายกลับเจ๊ง

เปิดโลก Virtual Bank ต่างประเทศ ทำไมโค่นแบงก์เก่าได้ แต่ทำไมหลายรายกลับเจ๊ง

เปิดตัวอย่าง 'เวอร์ชวลแบงก์' ในต่างประเทศกับ 3 แบงก์ยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ NuBank, WeBank และ KakaoBank แต่ละราย "เอาชนะ" แบงก์เก่ามาได้อย่างไร พร้อมความท้าทายที่หลายแบงก์ยังขาดทุน และบางรายถึงขั้นเจ๊งต้องขายกิจการ

KEY

POINTS

  • เวอร์ชวลแบงก์ หรือ Digital-only bank เริ่มขึ้นในต่างประเทศประมาณปี 2552 โดยมีจุดหนึ่งที่คล้ายๆ กันคือ มองเห็นปัญหา หรือ Pain point ของผู้บริโภค โดยเฉพาะการเข้าไปอุดช่องโหว่ที่เอสเอ็มอีและคนตัวเล็กเข้าไม่ถึงแบงก์และสินเชื่อ
  • แบงก์สายพันธุ์ใหม่ที่ประสบความสำเร็จเช่น WeBank ในจีน และ KakaoBank ในเกาหลีใต้ ต่างใช้ประโยชน์จาก "แพลตฟอร์ม" และฐานข้อมูลมหาศาล
  • แต่การทำธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะเรื่องสายป่านเงินทุน หลายแบงก์ยังไม่สามารถทำกำไรได้ในช่วง 1 ปีแรก และบางรายถึงกับต้องปิดกิจการ 

ไม่มีสาขา ไม่ต้องมีพนักงาน ไม่มีเวลาปิด และไม่มีวันหยุดราชการ นี่คือ "จุดเด่น" ของธนาคารเสมือนจริง "เวอร์ชวลแบงก์" (Virtual Bank) ในต่างประเทศอาจมีชื่อเรียกอื่นเป็น Digital-only bank หรือ Neobank ซึ่งเหนือกว่าธนาคารพาณิชย์แบบเดิม ด้วยการที่ไม่ต้องจ้างพนักงานสาขา และกระบวนการบริการเป็นแบบ "ดิจิทัลทั้งหมด" จึงช่วยลดต้นทุนลงได้อย่างมาก ทำให้สามารถให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง และกดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าได้ จนอาจเข้ามาท้าทายระบบธนาคารแบบเดิม

จุดเริ่มต้นของเวอร์ชวลแบงก์ครั้งแรกในโลกคาดว่า เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2552 (ค.ศ.2009) หรือ 1 ปีหลังเกิดวิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ โดยมีธนาคาร Simple Bank และ Ally Bank ในสหรัฐเป็นเวอร์ชวลแบงก์รายแรกๆ จากนั้นหลายประเทศก็ทยอยเปิดโมเดลนี้จนปัจจุบันมีธนาคารสายพันธุ์ใหม่แล้วหลายร้อยแห่งทั่วโลก และบางแห่งยังถึงขั้นแซงหน้าธนาคารเก่าแก่กันไปแล้ว

ในประเทศไทย กระทรวงการคลังได้ออกเกณฑ์จัดตั้ง "ธนาคารไร้สาขา" โดยไม่จำกัดใบอนุญาตอีกต่อไป (จากแต่เดิมที่จำกัดอยู่ที่ 3 ราย) จึงทำให้เกิด “4 กลุ่มทุน” ท้าชิงใบอนุญาต Virtual Bank ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ธนาคารกรุงไทย จับมือกับ AIS บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดในไทย, บริษัท GULF ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจไฟฟ้า และบริษัท OR ผู้มีสาขาปั๊มน้ำมันปตท.มากที่สุดในไทย

กลุ่มที่ 2 ธนาคารยานแม่อย่าง SCBX ผนึกกำลัง KakaoBank ผู้นำธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ และมีประสบการณ์ด้าน Virtual Bank มาโดยตรง

กลุ่มที่ 3 บริษัท True ซึ่งอยู่ในเครือ CP อาจจับมือกับยักษ์ใหญ่จีนอย่าง Ant Group จาก Alibaba ที่เด่นเรื่องการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการอนุมัติสินเชื่อ

กลุ่มที่ 4 บริษัท JMART เจ้าของธุรกิจปล่อยสินเชื่อ KB J Capital และยังเป็นเจ้าของบริษัทจัดเก็บหนี้อย่าง JMT ได้จับมือกับ KB Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำเกาหลีใต้

จึงน่าสนใจว่า ด้วยกระแส “ธนาคารเสมือน” ที่มาแรงในไทย ธนาคารลักษณะนี้ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมีอะไรบ้าง และมีความท้าทายอะไรแฝงอยู่

3 ตัวอย่างความสำเร็จของ "Virtual Bank" ในต่างประเทศ

1. Nubank: แก้ปัญหาคนเข้าไม่ถึงแบงก์

Nubank ได้รับการก่อตั้งขึ้นในบราซิล เมื่อปี 2556 ปัจจุบันขึ้นแท่นเป็นธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา มีลูกค้า 85 ล้านคนในบราซิล เม็กซิโก และโคลอมเบีย และมีมูลค่าการตลาดแซงหน้าแบงก์ใหญ่อย่าง Santander ไปแล้ว 

เหตุผลที่หน้าใหม่อย่าง Nubank สามารถแข่งขันจนขึ้นเป็นธนาคารอันดับต้นของบราซิลได้ เป็นเพราะว่าในช่วงนั้นชาวบราซิลจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงธนาคารแบบดั้งเดิม อีกทั้ง 5 แบงก์ใหญ่ของประเทศยังควบคุม 81% ของสินทรัพย์ทางระบบการเงินทั้งหมด และยังเป็นเจ้าของ 85% ของสินเชื่อโดยรวมด้วย ส่งผลให้มีค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูง และเอสเอ็มอีเข้าไม่ค่อยถึงสินเชื่อ โดยกลุ่มแบงก์ใหญ่ยกเรื่องภาษี กฎระเบียบ และการตั้งสำรองหนี้เสียที่เป็นต้นทุนมหาศาล

Nubank จึงเข้ามาแก้ "Pain Point" เหล่านี้โดยเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างบัตรเครดิตก่อน และตามมาด้วยสินเชื่อ ประกันชีวิต พร้อมชูจุดเด่นสำคัญของธนาคารเสมือน คือ "ให้ผลตอบแทนสูงถึง 9% ต่อปี" และทำธุรกรรมทางการเงิน 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน โดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนธนาคารดั้งเดิมที่มีเวลาทำการและวันหยุด อีกทั้งไม่เก็บค่ารักษาบัญชีด้วย จนสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก

แม้แต่ "วอร์เรน บัฟเฟตต์" นักลงทุนสายเน้นคุณค่าระดับตำนานจาก Berkshire Hathaway ยังทำให้ความเชื่อมั่นใน NuBank พุ่งติดจรวดด้วยการ ประกาศลงทุนผ่าน Berkshire เป็นเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 3.6 หมื่นล้านบาท) ในปี 2564 และ 2565 โดยในปีหลังยังเป็นการขายหุ้นในบริษัทการเงินดั้งเดิมอย่าง Visa และ Mastercard มาลงทุนในการเงินใหม่อย่างฟินเทคบราซิลรายนี้ด้วย

2. Webank: พลังแห่ง Wechat และ AI

Webank เป็นเวอร์ชวลแบงก์แห่งแรกในจีนที่ได้รับการก่อตั้งในปลายปี 2557 โดยมียักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Tencent ที่ทำซูเปอร์แอปฯ เบอร์ 1 อย่าง WeChat เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด WeBank เป็นอีกหนึ่งแบงก์ที่เห็น "Pain Point" คนจีนหลายล้านที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่ออีกเป็นจำนวนมากทั้งในระดับบุคคลและไมโครเอสเอ็มอี แม้เศรษฐกิจประเทศจะใหญ่เป็นเบอร์ 2 ของโลกก็ตาม 
 
สิ่งที่ทำให้ WeBank สามารถแข่งขันและขึ้นเป็นผู้นำได้มาจาก "ฐานข้อมูล" ขนาดใหญ่ของผู้ใช้งาน WeChat และ QQ กว่า 1.3 พันล้านคนในประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นแอปฯ ที่คนจีนเกือบทุกคนต้องมี ซึ่งรวมถึงดิจิทัลวอลเล็ต WeChat Pay ที่ทำให้ทราบพฤติกรรมการใช้เงินของลูกค้า

บริษัทยังทุ่มไปกับ "เทคโนโลยี ABCD" ประกอบด้วย เอไอ บล็อกเชน คลาวด์คอมพิวติ้ง และบิ๊กดาต้า เพื่อให้ทำงานได้เร็วที่สุด ประหยัดต้นทุนที่สุด และ "ใหญ่ที่สุด" ซึ่งการขยายขนาดธุรกิจ (Scale up) เป็นอีกหนึ่งหัวใจเพราะลูกค้าหลักเป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ จึงได้กำไรต่อหัวต่ำเมื่อเทียบกับลูกค้าเศรษฐีที่ไปแบงก์ดั้งเดิม จึงต้องชดเชยด้วยปริมาณแทน 

ในยุคที่ใครๆ ต่างก็เป็นแบงก์ดิจิทัลกันหมดแถมยังมีคู่แข่งรายใหญ่ๆ เช่น MYBank จากอาลีบาบา แต่เทคโนโลยีของ WeBank ช่วยให้สามารถพิจารณาวงเงินสินเชื่อ 500-3 แสนหยวน (ราว 2,500-1.5 ล้านบาท) ได้ในความเร็วไม่ถึง 5 วินาที และสินเชื่อจะถึงบัญชีผู้ขอภายใน 1 นาที โดยทั้งกระบวนการสามารถทำผ่านมือถือเพียงเครื่องเดียว ปัจจุบัน WeBank มีลูกค้ามากกว่า 370 ล้านราย

3. KakaoBank: พลังแห่งแพลตฟอร์มและราคา

KakaoBank ถือเป็นผู้นำธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ และได้จับมือกับธนาคาร SCBX ของไทยด้าน Virtual Bank โดยในปัจจุบัน มีลูกค้าราว 21 ล้านคน ต้นกำเนิดมาจากผู้ให้บริการ KakaoTalk แอปพลิเคชันแชตอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ต้องการขยายกิจการมาสู่ภาคการเงินโลกเสมือน จึงตั้งธนาคารนี้ขึ้นในปี 2559

จุดแข็งของ KakaoBank อยู่ที่ความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์ม KakaoTalk ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในเกาหลีใต้ 42 ล้านคน ทำให้ทำการตลาดได้ง่ายและตรงจุด และเมื่อบวกกับการแข่งขันด้านราคาและความเร็ว ทำให้เพิ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็วแม้จะไม่ใช่เวอร์ชวลแบงก์รายแรกในประเทศก็ตาม โดยมีผู้ลงทะเบียนเพียงวันแรกถึง 3 แสนคน และเพิ่มเป็น 3 ล้านคนภายใน 1 เดือน

ธนาคารให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย 2% กับเงินฝากราว 3 แสนบาท ในขณะที่รายอื่นให้เฉลี่ยประมาณ 1.3% ให้เงินกู้ฉุกเฉินวงเงินสูงสุด 3 ล้านวอน (ราว 8.7 หมื่นบาท) ภายใน 1 นาทีหากตรงเงื่อนไข และอีกจุดแข็งที่ดึงดูดผู้คนได้เป็นจำนวนมาก คือ ลูกค้าสามารถเปิดบัญชี ขอสินเชื่อ และเปิดบัตรเครดิตด้วยมือถือเครื่องเดียวได้ตลอด 24 ชั่วโมงในเวลาไม่กี่นาที

ความท้าทายของธนาคารเสมือนจริง

ในมุมมองของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นเรื่อง "ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์" ยังคงเป็นความท้าทายหลักที่จะก้าวจากแบงก์ดั้งเดิมไปสู่เวอร์ชวลแบงก์ที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัลทั้งหมด ผลสำรวจผู้บริโภคในอังกฤษเมื่อปีที่แล้วโดย Accenture พบว่า แม้จะมีสัดส่วนชาวอังกฤษเปิดบัญชีกับเวอร์ชวลแบงก์ถึง 38% แต่มีเพียง 12% เท่านั้นที่ใช้แบงก์เหล่านี้เป็นบัญชีหลัก โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 1 ใน 5 กังวลเรื่องความปลอดภัยและเสถียรภาพของระบบ และมีอีก 1 ใน 3 ที่ให้เหตุผลว่ายังต้องการสื่อสารหรือสอบถามกับพนักงานแบงก์ต่อหน้าโดยตรงมากกว่า

ส่วนในมุมมองเชิงธุรกิจนั้น ไม่ใช่ทุกธนาคารเสมือนที่เปิดจะสามารถ "ทำกำไร" ได้เสมอไป เพราะต้องแข่งขันด้านดอกเบี้ยอย่างดุเดือดและลงทุนด้านดิจิทัลเป็นจำนวนเงินไม่น้อย โดยข้อมูลของ KPMG หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายงานว่า เวอร์ชวลแบงก์จำนวน 8 แห่งใน "ฮ่องกง" ล้วนประสบผลขาดทุนทุกแห่งในปี 2563 หรือ 1 ปีหลังจากที่เริ่มดำเนินธุรกิจ เช่น ธนาคาร Mox Bank ขาดทุน 456 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ตามมาด้วยธนาคาร Livi Bank ขาดทุน 438 ล้านดอลลาร์ และธนาคาร Ant Bank ขาดทุนอย่างต่ำ 172 ล้านดอลลาร์ 

ไม่เพียงในฮ่องกงที่การแข่งขันไม่ง่ายและสายป่านต้องยาวเท่านั้น ในปี 2565 ธนาคารเสมือน Volt Bank ในออสเตรเลียก็ต้องประกาศ "ปิดกิจการ" และคืนเงินฝากให้ลูกค้า เนื่องจากประสบปัญหาสภาพคล่องขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินกิจการ โดยบริษัทไม่สามารถระดมทุนได้มากพอในยุคดอกเบี้ยที่กำลังเป็นขาขึ้นและเงินเฟ้อพุ่งสูง

สุดท้ายแล้ว น่าติดตามว่าเมื่อเกิดธนาคารเสมือนที่มีต้นทุนต่ำกว่าขึ้นในไทย จะทำให้สมรภูมิดอกเบี้ยทั้งเงินกู้เงินฝากดุเดือดเพียงใด และอาจทำให้ธนาคารที่มีสาขานั่งอยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว หากแบงก์สายพันธุ์ใหม่เหล่านี้เข้ามาแก้ Pain Point ของคนไทยได้โดนใจกว่าเดิม

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจกรุงเทพธุรกิจ2statistawebankyahookakaoisacatheasian,
fintechcaixinfinancnn