ธนาคารเวลา (Time bank) 'ออม' ไว้ใช้ในยามชรา

ธนาคารเวลา (Time bank) 'ออม' ไว้ใช้ในยามชรา

ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรองรับเมื่อเด็กเกิดน้อย สูงวัยมากขึ้น 'ธนาคารเวลา' จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่เข้ามาช่วยสร้างระบบดูแลในชุมชน และสะสมคะแนนไว้ใช้ ในวันที่ต้องการความช่วยเหลือ

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมี ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี 13 ล้านคน ละจะเพิ่มขึ้นกว่าล้านคนต่อปี
  • แนวคิด ธนาคารเวลา จึงถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปี 2561 โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ “กรมกิจการผู้สูงอายุ”    ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อม
  • ธนาคารเวลา เป็นการจับคู่เชื่อมต่อ ผู้ที่มีจิตอาสา และผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ โดยอาสาสมัครสามารถสะสมเวลา 1 ชั่วโมง เท่ากับ 1 คะแนน เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต 

 

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete - aged Society) โดยมี ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี 13 ล้านคน หรือกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 ล้านคนในปี 2567-2568 จากการส่งเสริมการมีบุตรเมื่อ 60 ปีก่อน 

 

โจทย์ใหญ่ คือ การรับมือกับสังคมสูงวัยในทุกมิติไม่ว่าจะสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และการมาของเทคโนโลยี ที่ผ่านมา เกิดการบูรณาการร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้ครอบคลุม ขณะเดียวกัน คนที่ยังไม่ก้าวสู่สังคมสูงวัย ก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต 

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไม่ได้เกิดแค่ที่ไทยเท่านั้น แต่ยังมีหลายๆ ประเทศที่ต้องพัฒนารูปแบบ เตรียมความพร้อมของทุกกลุ่มวัย “ธนาคารเวลา” (Time bank) จึงเป็นแนวคิดที่มีการนำมาใช้ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศแรกๆ เนื่องจากมีสัดส่วนของผู้สูงอายุสูงอันดับต้นๆ ของโลก หลังจากนั้นได้มีการแพร่ขยายสู่ประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และหลายประเทศทั่วโลก

 

ธนาคารเวลา (Time bank) \'ออม\' ไว้ใช้ในยามชรา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ไทยก้าวสู่ 'สังคมสูงวัย' ระดับสุดยอด กระทบตลาดแรงงาน

สังคมสูงวัย ‘กับดัก’ ฉุดเศรษฐกิจ

'อุ่นใจไซเบอร์' รู้ไว้ไม่โดนหลอก ติดอาวุธ 'สูงวัย' สู่พลเมืองดิจิทัล

 

สำหรับในประเทศไทย ธนาคารเวลา ถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปี 2561 โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ “กรมกิจการผู้สูงอายุ” นำแนวคิดธนาคารเวลามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของประเทศไทย และได้กำหนดให้เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่มีเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุไทยเป็น Active Ageing : Healthy, Security and Participation ผ่านการระดมพลังในหลายภาคส่วน 

 

ออมเวลา ไว้ใช้ในยามชรา

“แรมรุ้ง วรวัธ” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เนื่องมาจากการที่ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเยอะขึ้น เด็กเกิดใหม่น้อยลง วัยทำงานน้อยลง ดังนั้น ต้องหากลไกที่จะมีใครเข้ามาดูแลเมื่อสูงอายุ และต้องการการช่วยเหลือ การดูแลเป็นพิเศษ 

 

“ธนาคารเวลา เริ่มจากผู้ที่ต้องการไปช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ มาสมัครเป็นอาสาสมัครธนาคารเวลา และจะมีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่ต้องการได้รับการดูแล มาสมัครขอรับการดูแล และให้ชุมชนแต่ละชุมชนช่วยดูแล จับคู่เชื่อมต่อ เป็นเรื่องของความไว้วางใจในการดูแลซึ่งกันและกัน กติกา คือ หากเราที่เป็นอาสาสมัคร เข้าไปดูแลผู้สูงอายุ 1 ชั่วโมง จะได้มา 1 คะแนน และเมื่อเวลาที่เราสูงอายุต้องการคนดูแล ก็จะได้สามารถใช้ 1 คะแนน เท่ากับ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมี อาสาสมัครในโครงการมากกว่า 10,000 คน มีการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมกว่า 150 พื้นที่”

 

ธนาคารเวลา (Time bank) \'ออม\' ไว้ใช้ในยามชรา

 

สำหรับ ธนาคารเวลา (Time bank) ถือเป็นรูปแบบกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ บริการชั้นพื้นฐาน และสามารถสะสมเวลาไว้ เสมือนเราออมเงิน ในบัญชีธนาคาร เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือก็สามารถเบิกเวลามาใช้ได้ ธนาคารเวลาจะเกิดขึ้นเมื่อเครือข่ายสมาชิกมีข้อตกลงร่วมกันว่า มีการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ในรูปแบบบริการขั้นพื้นฐาน โดยยึดหลักคิดที่ว่า ทุกคนมีเวลาเท่าเทียมกันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งในการดูแลซึ่งกันและกัน 

 

ขยายพื้นที่ ธนาคารเวลา 

อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุ มองว่าเป็นสิ่งดีที่จะขยายพื้นที่ต่อเนื่อง เพราะผู้สูงอายุต้องการการดูแล และกรมฯ ต้องทำงานต่อ คือ เรื่องของการให้ความรู้เพิ่มกับพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องธนาคารเวลา ให้เข้าใจถึงรูปแบบและให้กลไกชุมชนดูแลกัน

 

“เมื่ออบรมความรู้เพิ่มเติมแล้ว ยังต้องมีการประชาสัมพันธ์ ขยายให้เต็มพื้นที่เพื่อดูแลระหว่างอาสาสมัคร และ ผู้สูงอายุ รวมถึงการสะสมเวลา ณ ตอนนี้เราใช้ระบบแอปพลิเคชั่นในการสะสมเวลา แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ บางครั้งคนอาจจะยังไม่เข้าถึง จึงก็มีสมุดคู่มือเล็กๆ ควบคู่กัน นอกจากนี้ ยังวางแผนที่จะทำเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาต่อไป” 

 

ธนาคารเวลา (Time bank) \'ออม\' ไว้ใช้ในยามชรา

 

Aging in place สูงวัยได้อยู่บ้าน

ทั้งนี้ สำหรับระยะยาว อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เผยว่า การดูแลผู้สูงอายุให้ยั่งยืน อย่างแรก คือ ต้องทำให้ชุมชน มีความพร้อมมากที่สุดในการดูแลผู้สูงอายุ จากที่ทำงานมา พบว่า ผู้สูงอายุอยากจะใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านตัวเอง จึงมีโครงการ Aging in place ให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ที่บ้านได้นานที่สุดจนระยะท้าย 

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังมีนโยบายในเรื่องของโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน เป็นโครงการใหม่ที่เริ่มทำงานกันในปีนี้ โดยมีพื้นที่นำร่อง 12 จังหวัด 19 พื้นที่ ได้แก่

1. จังหวัดเชียงใหม่ 1 พื้นที่ ทต.สันกำแพง อ.สันกำแพง

2. จังหวัดเชียงราย 1 พื้นที่ อบต.สันกลาง อ.พาน

3. จังหวัดพิษณุโลก 1 พื้นที่ นิคมสร้างตนเองบางระกำ อ.บางระกำ

4. จังหวัดสุพรรณบุรี 3 พื้นที่ เทศบาลตำบลด่านช้าง อ.ด่านช้าง อบต.นิคมสร้างตนเองกระเสียว อ.ด่านช้าง และ อบต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง

5. จังหวัดนครปฐม 1 พื้นที่ อบต.บางระกำ อ.บางเลน

6. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3 พื้นที่ เทศบาลตำบลตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน อบต.ท่าหลวง อ. ท่าเรือ และ ทต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล

7. จังหวัดสิงห์บุรี 1 พื้นที่ อบต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี

8. จังหวัดลพบุรี 1 พื้นที่ นิคมสร้างตนเองลพบุรี

9. จังหวัดสกลนคร 3 พื้นที่ เทศบาลตำบลวานรนิวาส อ.วานรนิวาส เทศบาลตำบลไฮหย่อง อ.พังโคน นิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน อ.ลำน้ำอูน

10. จังหวัดอุบลราชธานี 1 พื้นที่ อบต.หัวดอน อ. เขื่องใน

11. จังหวัดสงขลา 2 พื้นที่ เทศบาลนครสงขลา อ.เมือง และ อบต.คลองรี อ.สทิงพร และ

12.จังหวัดปัตตานี 1 พื้นที่ นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์

 

เน้นให้ชุมชนดูแลผู้สูงอายุ โดยรับสมัครคนในชุมชนที่มีใจอยากดูแลผู้สูงอายุ มีคุณสมบัติที่จะเสริมความรู้ได้เพื่อจะเป็น “นักบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน” รอบแรก 40 คน เริ่มอบรมในเดือนมีนาคม 2567 ที่ จ.ขอนแก่น และกลับไปดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ติดสังคม 

 

ธนาคารเวลา (Time bank) \'ออม\' ไว้ใช้ในยามชรา

 

สร้างกลไกในชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของครอบครัวอุปถัมภ์ เน้นเรื่องของกลไกชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ และ การปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยการอบรมช่างในชุมชน ให้มีความรู้เรื่องการประมาณการณ์การซ่อมบ้าน ปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมที่ผ่านมา มีการอบรมช่างไปแล้วกว่า 1,138 ราย และช่วยซ่อมบ้านไปแล้วกว่า 34,272 หลัง 

 

กลไกอาสาสมัครที่เข้ามาดูแลผู้สูงอายุ มีอาสาสมัครในหลายรูปแบบ ได้แก่ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะเข้ามาดูแลและเสริมความเชี่ยวชาญให้กับอาสาสมัคร ปัจจุบันมีกว่า 55,000 กว่าคน อีกทั้ง ยังทำหลักสูตรมาตรฐานในการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น 18 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการอบรมสามารถดูแลตัวเองได้ เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุได้ และ ในส่วนของผู้ดูแลผู้สูงอายุ Care Giver ที่ผ่านมา มีการอบรมไป 48,000 กว่าคนและยังมีการอบรมเพิ่มเติมต่อไป

 

ก้าวสู่สูงวัย ที่ยังแจ๋ว 

ท้ายนี้ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวสู่สังคมสูงวัยว่า อย่าเอาคำว่าอายุ 60 ปีมาเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต เพราะ 60 ปียังแจ๋วอยู่ และยังมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มาก อยากให้คนที่กำลังจะอายุ 60 ปี พร้อมในทุกมิติที่พูดถึงทั้งหมด และเมื่อไรก็ตามที่อายุ 60 ปี สิ่งที่ต้องทำ คือ ดูแลสุขภาพ ดูแลจิตใจของเรา เตรียมความพร้อมภายในบ้าน และออกไปทำกิจกรรม ทำงานอดิเรกหรือทำอะไรก็ตามที่สามารถทำเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้ ผู้สูงวัยเป็นศูนย์รวมใจของครอบครัว อยากให้ช่วยกันดูแลผู้สูงวัยให้ดีที่สุด

 

ธนาคารเวลา (Time bank) \'ออม\' ไว้ใช้ในยามชรา