3กลุ่มทุน ผนึกแบงก์ร่วมวง ชิงไลเซนส์ ‘เวอร์ชวลแบงก์‘
คลัง ปลดล็อกเกณฑ์ “เวอร์ชวลแบงก์” จับมือ ธปท.พิจารณาคำไลเซนส์ภายใน 9 เดือน ธปท.เปิดหลักเกณฑ์ พร้อมคุณลักษณะ 7 ข้อ สำหรับผู้ยื่นขอไลเซนส์ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ 20 มี.ค.-19 ก.ย. นี้ จับตา3 ทุนใหญ่ “เอสซีบีเอกซ์-กรุงไทย-ทรูมันนี่” ร่วมชิงเค้ก
กระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ฯการขอและการออกใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank ) ซึ่งเป็นธนาคารไร้สาขาที่ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรม เข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เร่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจัดตั้ง ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ธนาคารไร้สาขาจะมุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ 1.ผู้ไม่มีรายได้ประจำและ SMEs 2.กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) 3.กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) 4.กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต ซึ่งเดิมจำกัด 3 ราย เพราะต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ ธปท.พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นการแข่งขันและไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
ธนาคารไร้สาขาจะกำกับโดย ธปท.เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และธนาคารไร้สาขาไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ
โดยกระทรวงการคลังและ ธปท.จะร่วมพิจารณาคำขออนุญาตใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดการยื่นคำขอ ต้องตั้งบริษัทมหาชนจำกัดและเปิดบริการใน 1 ปี ซึ่งผู้ขอต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติหรือราว 5 ปี สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้
นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติที่แสดงถึงประสบการณ์และทรัพยากรที่เพียงพอในการสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีและการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจได้มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ ขณะที่ยื่นคำขออนุญาตผ่าน ธปท.ได้ใน 6 เดือนนับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้
โดย ธปท.และกระทรวงการคลังจะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายใน 9 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ และเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อม เช่น เริ่มดำเนินธุรกิจใน 1 ปี
ทั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ขออนุญาตที่มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติมีโอกาสประกอบธุรกิจ โดยไม่กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท.พิจารณาใบอนุญาต Virtual Bank ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในไทย เพื่อกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
“การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank สอดคล้องนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริม Digital Economy และพัฒนา Infrastructure ในระบบการเงินเพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Financial Center ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
“แบงก์ชาติ” เปิด 7 คุณสมบัติตั้ง “เวอร์ชัวแบงก์”
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า Virtual Bank จะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี การให้บริการดิจิทัล และการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ
รวมทั้งช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไทยเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้ใช้บริการในวงกว้าง
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ Virtual Bank ที่สร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายข้างต้น ธปท.จะพิจารณาคำขออนุญาต โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ขออนุญาต ดังนี้
1.ประสบการณ์ ทรัพยากร และความสามารถในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank โดยนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น 2.ธรรมาภิบาลและความสามารถของผู้ขออนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน Virtual Bank
3.ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และความสามารถในการประกอบธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล 4.ความสามารถการใช้และบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัยและให้บริการได้ต่อเนื่อง เพื่อรองรับการพัฒนาบริการทางการเงินตอบสนองต่อสถานการณ์หรือความต้องการของผู้ใช้บริการได้คล่องตัว
5.ประสบการณ์และความสามารถในการได้มา เข้าถึง บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการพัฒนาระบบหรือส่วนเชื่อมต่อข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการให้นำข้อมูลไปใช้ในการทำธุรกรรมกับผู้ให้บริการรายอื่นภายใต้สิทธิตามกฎหมาย
6.ความสามารถบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงิน 7.ความสามารถในการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank อย่างต่อเนื่องของผู้ถือหุ้นสำคัญ
สมัครขอไลเซนส์ 20 มี.ค.-19 ก.ย.67
สำหรับผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2567 ถึง 19 ก.ย.2567 โดยศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการยื่นคำขออนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธปท. และ ธปท.จะประชุมชี้แจงแก่ผู้ที่สนใจวันที่ 19 มี.ค.2567 โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมชี้แจงลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ ธปท. ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 13 มี.ค.2567
ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2568 โดยผู้ขออนุญาตที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว จะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี
“3 กลุ่มทุนใหญ่” ร่วมชิงเค้ก
หากดูความเคลื่อนไหวในธุรกิจการเงินที่สนใจ Virtual Bank มีถึง 3 กลุ่มทุนใหญ่ เพื่อหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ในอนาคตเริ่มที่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ‘ยานแม่’ ของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของไทย ที่ประกาศ เดินหน้า แก้ปัญหาให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved)
ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ตั้ง Consortium โดย SCBX มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และ KakaoBank จะมีสัดส่วนการถือหุ้นอย่างน้อย 20% โดยจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการสำหรับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved Group) ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก ปลอดภัย และทั่วถึง
ถัดมา คือ อีกหนึ่งธนาคารใหญ่ที่น่าติดตามหลังธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศลงสนามเข้าร่วมชิงไลเซนส์ เพื่อต่อยอดการเติบโตในมิติใหม่ให้กับธนาคาร และหวังเข้าไปตอบโจทย์ ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร จากธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาสร้าง New growth engine ให้ธนาคาร
โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ลงนาม ร่วมกับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ให้บริการ virtual bank และกลุ่มเป้าหมายจะเจาะผ่าน Virtual bank เริ่มต้นคือ กลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่รู้รายได้ชัดเจน
อีกกลุ่มทุน ที่มองข้ามไม่ได้ในสมรภูมินี้ คือ ทรูมันนี่ (truemoney) ที่มีฐานลูกค้าใช้งานถึง 27 ล้านคน ที่ประกาศความสนใจ ในการเข้าร่วมชิงเค้ก เพราะการได้ใบอนุญาต Virtual Bank จะต่อยอดการบริการทางการเงินได้กว้างขึ้น และช่วยธุรกิจในการลดต้นทุนในการทำธุรกิจได้ในระยะข้างหน้า