'ญี่ปุ่น' ลั่นพร้อมแทรกแซงค่าเงินเยนตลอด 24 ชม. หลังใกล้แตะ 160
รมช.คลังญี่ปุ่นเตือนจริงจัง พร้อมแทรกแซงค่าเงินเยนแบบ "24 ชั่วโมงต่อวัน" หากจำเป็น หลังเงินเยนอ่อนค่าหนักใกล้ไปทดสอบระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้าง มาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นในวันนี้ (24 มิ.ย.) ว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน หากมีความจำเป็น หลังจากที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างหนักตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อเวลา 09.01 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ค่าเงินเยนร่วงลงต่อเนื่องอีก 0.1% มาอยู่ที่ 159.91 เยนต่อดอลลาร์ หรือใกล้แตะจุดทดสอบ 160 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินเยนเคยร่วงหนักถึง 160.17 เยนต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ซึ่งเป็นระดับที่เชื่อกันว่าส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินตามมา
"หากมีความผันผวนของค่าเงินมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ" คันดะกล่าว "ในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวมากเกินไปเนื่องจากการเก็งกำไร เราก็พร้อมที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม"
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นยอมรับว่ามีการเข้าแทรกแซงค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนช่วงระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 26 เม.ย. - 29 พ.ค. โดยใช้เงินไปถึง 9.6 ล้านล้านเยน (ราว 2.25 ล้านล้านบาท) ในการแทรกแซงค่าเงินเยน
ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีการแทรกแซงค่าเงินรอบใหม่อีกครั้งเมื่อใด แต่จากการแทรกแซงค่าเงิน 2 ครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมาในวันที่ 29 เม.ย. และ 1 พ.ค. พบว่าญี่ปุ่นจะส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนแนวนี้ทุกครั้งก่อนที่จะดำเนินการตามมา ในขณะที่ข้อมูลทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นบ่งชี้ว่า ทางการญี่ปุ่นอาจเทขายพันธบัตรสหรัฐเพื่อพยุงค่าเงินเยน
คันดะระบุด้วยว่า รัฐบาลทั่วโลกมีการติดต่อพูดคัยกันทุกวันเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องสกุลเงินด้วย และย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ได้มีปัญหากับการแทรกแซงค่าเงินของญี่ปุ่น เพราะ "สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาก็คือความโปร่งใส" พร้อมยืนยันว่าการที่สหรัฐขึ้นบัญชีญี่ปุ่นเป็นสถานะที่ต้อง "จับตามอง" นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ค่าเงินของญี่ปุ่น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐได้ขึ้นบัญชีญี่ปุ่นเป็นสถานะ "Watchlist" ในข่ายประเทศคู่ค้าที่มีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่ต้องจับตามอง แต่ยังไม่ถึงขั้นขึ้นบัญชีเป็นประเทศปั่นค่าเงิน (currency manipulation)
โดยปกติแล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐจะเปิดเผยรายงานประเทศปั่นค่าเงินเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบประเทศคู่ค้าที่มียอดการค้าเกินดุลกับสหรัฐมาก และอาจใช้การแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยสหรัฐจะใช้หลักเกณฑ์ 3 ด้าน และหากเข้าข่าย 2 ใน 3 จะถูกขึ้นบัญชี Watchlist ประเทศที่ต้องจับตามอง ซึ่งไทยก็เคยอยู่ในบัญชีนี้มาก่อน สำหรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้แก่
- เกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงกว่า 2% ของจีดีพี
- แทรกแซงค่าเงินโดยวัดจากการเข้าซื้อตราสารเงินตราต่างประเทศรวมกันมากกว่า 2% ของจีดีพี ในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง