ภารกิจ ‘กิตติรัตน์‘ นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่น ’แก้กฎหมาย - ล้วงทุนสำรอง

ภารกิจ ‘กิตติรัตน์‘ นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่น ’แก้กฎหมาย - ล้วงทุนสำรอง

จับตาภารกิจ “กิตติรัตน์” หลังนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติผวา ‘แก้กฎหมาย - ล้วงทุนสำรอง’ ทำนโยบายเอื้อรัฐ ที่หวังผลระยะสั้น

ถือว่าเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการคัดเลือกตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” หรือประธาน และกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลัง “แหล่งข่าวระดับสูง” กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหานำโดย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเลือก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนถัดไป แทน นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการแบงก์ชาติที่สิ้นสุดวาระลงเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา 

สำหรับนายกิตติรัตน์ ถือเป็นหนึ่งในแคนดิเดต จาก 3 รายชื่อ ที่เสนอมา คือ นายกิตติรัตน์ เสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง และมีอีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คน ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภารกิจ ‘กิตติรัตน์‘ นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่น ’แก้กฎหมาย - ล้วงทุนสำรอง

สำหรับการเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ “กิตติรัตน์” ถือเป็นประธานคนที่ 5 นับตั้งแต่ มี พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 โดยคนแรก คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ,นายวีรพงษ์ รามางกูร ,นายอำพน กิตติอำพน และนายปรเมธี วิมลศิริ

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งครั้งนี้คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งอีก 2 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคือ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนกรรมการที่สิ้นสุดวาระคือ นายนนทิกร กาญจนะจิตรา และนายมนัส แจ่มเวหา

เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบ ปธ.บอร์ด

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือก กล่าวว่า การประชุมเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยหลังจากนี้ฝ่ายเลขานุการฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

สำหรับประธานกรรมการฯ จะนำเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ส่วนกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง

ทั้งนี้ การประชุมเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ครั้งนี้ ใช้เวลาเกือบ 5 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 14.50 น.

ภารกิจ “กิตติรัตน์” ในตำแหน่ง ปธ.บอร์ด

การมานั่งในตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ของนายกิตติรัตน์ ถูกจับตามองอย่างมากจากสาธารณชน โดยปักธงตั้งแต่แรกในการเข้ามาทำ “ภารกิจ” ภายใต้วังบางขุนพรหมแห่งนี้ที่ถูกจับตามากคือ การหวังเข้ามา “ลบล้าง” ความอิสระของ ธปท.โดยแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้ ธปท.เห็นพ้องต้องกับแนวคิดรัฐบาลมากขึ้น เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การดูแลค่าเงินบาท จากที่ผ่านมาถือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

ไม่เพียงเท่านั้น เป้าหมายถัดมา คือ การแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อต้องการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่บัญชีบริหารหนี้ของ ธปท.แทนที่จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง 

ดังนั้นเป้าหมายการโอนหนี้ FIDF เพื่อเอื้อให้รัฐบาลก่อหนี้เพื่อทำนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้รัฐบาลลดหนี้สาธารณะลงได้ราว 5% ต่อจีดีพี เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

ล้วงทุนสำรองแบงก์ชาติเอื้อทำนโยบายรัฐ 

อีกเป้าหมายที่สร้างความกังวลอย่างมากกับสาธารณชนคือ การเข้ามาล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยการนำทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มากในเวลานี้ เพื่อไปใช้ทำประโยชน์อื่นๆ 

แบงก์ชาติครั้งนี้ ยังมีภารกิจสำคัญๆ ที่เป็นเป้าหมายของภาครัฐมาโดยตลอด นั่นคือการ “ล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศ” เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เอื้อภาครัฐอีกตามเคย คือ การนำทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวนมาก และเรียกว่าเกือบจะสูงที่สุดในปัจจุบันหลังค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จนทำให้ทุนสำรองปัจจุบันอยู่ระดับสูงลิ่วกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์

​ดังนั้นความหวังคือ การล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วน ออกมาทำประโยชน์แทนที่จะนอนกองอยู่เฉยๆ ทั้งการมีแนวคิดที่จะดึงเงินทุนสำรองมาตั้ง กองทุนความมั่งคั่งของรัฐ (Sovereign Wealth Fund หรือ SWF) เหมือนในต่างประเทศ หรือนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ สร้างรายได้เข้าประเทศ

รวมถึงการใช้ทุนสำรองฯ ไปใช้ดูแลประเทศในช่วงเศรษฐกิจเผชิญวิกฤติหรือการชะลอตัวหนักเช่นปัจจุบัน​แนวคิดเหล่านี้แม้จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่อีกด้านก็ลืมไปว่า หน้าที่ของทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นมีหน้าที่หลัก ในการดูแลรักษาเสถียรภาพการเงินในประเทศ ทั้งการดูแลเงินบาท ดูแลเงินไหลเข้าไหลออกที่ล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะดึงเงินส่วนนี้ไปใช้ ก็อาจถูกตั้งคำถามอย่างหนักตามมาได้ ว่าหากเกิดวิกฤติ ที่แบงก์ชาติเองต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางโลกผันผวน ส่วนนี้จะมีเพียงพอในการดูแลสถานการณ์วิกฤติได้หรือไม่

ด้วย​เพราะทุนสำรองนอกจากมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพการเงินประเทศ ยังมีหน้าที่ค้ำจุนความเชื่อมั่นต่อประชาชน ภาคธุรกิจและต่างชาติ เพราะหากทำคนขาดความเชื่อมั่นในแบงก์ชาติ หรือขาดความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพการเงินสุดท้ายประเทศอาจกลายเป็นเครื่องมือ หรือตกอยู่ในหายนะได้ นักลงทุนอาจขาดความเชื่อมั่นจนแห่ทิ้ง ขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ในไทย

4 ผู้ว่าการแบงก์ชาติ - กลุ่มเศรษฐศาสตร์ค้าน

การมาของนายกิตติรัตน์ครั้งนี้ มาภายใต้แรงคัดค้านอย่างมากจากสาธารณชน นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ หรืออดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งรวมไปถึง “อดีต” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 4 ท่าน ได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายวิรไท สันติประภพ, นางธาริษา วัฒนเกส ที่แสดงความห่วงใยในการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

ที่ร่วมลงชื่อไม่เห็นด้วย เพื่อให้บุคคลใกล้ชิดฝ่ายการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ร่วมกับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ที่ขณะนี้มีกว่า 830 คนไปแล้ว

“วิรไท” ห่วงทำลายความน่าเชื่อถือธนาคารกลาง

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท.ออกมาเคลื่อนไหวล่าสุด โดยระบุว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ โดยชื่อของบุคคลที่เข้ามาไม่สำคัญ แต่หากมีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่น มีทัศนคติ และวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมือง ก็ไม่สมควร

โดยหากยอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควร

“ระยะข้างหน้า อาจเห็นนโยบายประชานิยมแบบปลายเปิดเต็มไปหมด ไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก ในอนาคตนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วย”

เช่นเดียวกัน คณะศิษยานุศิษย์ที่น้อมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยยื่นหนังสือถึง ธปท.เช้าวานนี้ (11 พ.ย.67) ที่ ธปท.โดยระบุว่า หากได้ “กิตติรัตน์” เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะกระทบรุนแรงต่อธนาคารกลางในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีกองทัพธรรม คปท. ศปปส. ที่เปิดระดมรายชื่อกว่า 51,980 รายชื่อ เพื่อคัดค้านการเลือก “ผู้ที่ใกล้ชิดทางฝ่ายการเมือง” มาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติด้วยเช่นกัน

เลขาธิการนายกฯ ชี้เป็นเรื่องปกติ

นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท.ว่าเรื่องนี้ที่น่ากังวลเพราะการที่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง จะมีบุคคลเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่ดูแลนโยบายที่กระทบประชาชนถือเป็นเรื่องปกติ 

ทั้งนี้เหมือนกับเรื่องที่กระทรวงการคลัง ตั้งคนจากรัฐไปบริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย ก็เป็นไปตามการที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้และถือหุ้นการบินไทยไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติหรือแทรกแซงจากการเมือง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์