กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ ปรับลงต่อ ยังคงมีแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ
ปัจจัยต่างประเทศยังเป็นลบต่อสินทรัพย์เสี่ยงในสัปดาห์นี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-12 ต.ค.) ตลาดหุ้นไทยยังคงปรับลดลง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองรายสัปดาห์ของเราว่าปัจจัยมหภาคทั่วโลกมีแนวโน้มเป็นลบและยังควรระมัดระวังกับสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม
ในสหรัฐฯนั้น เจ้าหน้าที่เฟดยังคงให้มุมมองที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อแนวนโยบายการเงิน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นต่อ ส่วนในยุโรปนั้นพบว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง ในขณะที่ตลาดการเงินของสหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับแรงกดดันที่สูงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่า BoE จะยังคงดำเนินการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินจนถึงวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา
สัปดาห์นี้ (17-21 ต.ค.) เราคาดว่า SET Index จะยังคงผันผวนและมีโอกาสปรับฐานลงต่อ แม้ว่าจะมีข่าวเชิงบวกเข้ามาบ้างจากฝั่งยุโรปในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เช่น i) ผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวว่า การระดมกำลังทหารจะสิ้นสุดภายในสองสัปดาห์นับจากนี้ และ ii) รัฐบาลสหราชอาณาจักรยกเลิกบางส่วนของโครงการลดภาษีและการขาดดุลงบประมาณ แต่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากวิกฤติด้านพลังงานอาจรุนแรงขึ้นในฤดูหนาวที่จะมาถึง ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง และเริ่มเปิด upside risk ว่าเฟดอาจมีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไป
สูงกว่าที่ตลาดมอง ณ ปัจจุบัน ดังที่ CME Fed Fund Futures ปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดสูงสุดใน cycle นี้ขึ้นไปที่ 5.00-5.25% หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ประเด็นเศรษฐกิจจีน น่าจะเป็นข่าวสำคัญต่อตลาด และให้ติดตามงบไตรมาส 3/2565 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วย
ปัจจัยต่างประเทศ: นักลงทุนควรติดตามข้อมูลที่อยู่อาศัยในเดือนกันยายนของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งเป็นจุดที่เปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตัวเลขดังกล่าวจะส่งผลต่อ GDP ไตรมาส 3/65 ของสหรัฐฯ ที่จะรายงานในสัปดาห์หน้า ส่วนในประเทศจีนนั้น ตัวเลข GDP 3Q22 จะเผยแพร่ในวันที่ 18 ต.ค. โดยตลาดคาดว่า GDP รายไตรมาสจะเพิ่มขึ้น 3.4% YoY ซึ่งเร่งตัวขึ้นจาก 0.4% YoY ในไตรมาส 2/65 เมื่อมีการล็อกดาวน์ COVID-19 อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ การประชุมสภาคองเกรสแห่งชาติประจำปีจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-22 ต.ค. อาจมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเมืองจีน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค และ
นโยบายเกี่ยวกับโควิดและการท่องเที่ยว
ปัจจัยภายในประเทศ: ในฝั่งของไทยนั้นไม่มีปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้นักลงทุนควรติดตามผลประกอบการธนาคารในไตรมาส 3/2565 รวมทั้งการพิจารณาของ กสทช. เกี่ยวกับการควบรวม DTAC* และ TRUE* ซึ่งทาง กสทช. ได้เลื่อนการตัดสินจากสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่ทาง กสทช. ว่าจ้างมา
ยังคงมุมมองว่าความเสี่ยงทางลงของ SET Index มีจำกัด ทยอยสะสมในช่วงตลาดปรับฐาน
แม้ว่าปัจจัยต่างประเทศยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่สูงกว่าคาด และเปิดความเสี่ยงว่าดอกเบี้ยเฟดจะขึ้นไปมากกว่าคาด แต่เรายังคงความเห็นของเราว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่รุนแรง และน่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจอาเซียนและเศรษฐกิจไทย ที่มีการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวเป็นแรงผลักดันให้ฟื้นตัว เราจึงคงมุมมองว่าความเสี่ยงทางลงของ SET Index น่าจะมีจำกัด โดยหากอิงการวิเคราะห์ earnings yield gap เรายังมองว่าระดับของดัชนีฯ ที่น่าจะรองรับการปรับตัวของตลาดได้ คือ 1,550pts และ 1,510pts ธีมการลงทุนที่เราแนะนำยังคงเป็นหุ้นกลุ่มธนาคาร การท่องเที่ยว และธีมการเปิดเมืองเปิดเศรษฐกิจ เช่น KBANK*, KTB*, AOT*, BDMS*, CENTEL*, ERW, PLANB* และ PTG*