Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 17 October 2022
ราคาน้ำมันดิบผันผวนในกรอบที่ลดลง จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยและการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในจีน
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80 - 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 86 - 96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 – 21 ต.ค. 65)
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ภายหลัง IMF ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปี 2566 ลงจาก 2.9 % สู่ระดับ 2.7 % ประกอบกับสถานกาณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในรอบ 2 เดือน ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะใช้มาตรการที่เข้มงวดตามนโยบายปลอดโควิดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดก่อนจะถึงการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดกำลังการผลิตของโอเปคและประเทศพันธมิตร (OPEC+) และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในหน้าหนาวสนับสนุนราคา
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
- IMF (รายงานเดือนก.ย. 65) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปีหน้า ลง 0.2% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.7% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนและอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงมาตรการเข้มงวดทางการเงินโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในจีนยังคงน่ากังวล หลังสิ้นสุดวันหยุดประจำชาติ (Golden week) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทางการจีนรายงานว่าขณะนี้พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในรอบ 2 เดือน ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าจีนอาจกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดก่อนการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ ขณะที่รายงานของ FGE คาดว่าอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันในจีน จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย. 66 หลังสิ้นสุดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติในเดือน มี.ค. 66 โดยคาดว่าปริมาณความต้องการน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2566
- CEO ของ JP Morgan กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 6 – 9 เดือนข้างหน้า จากปัจจัยในเรื่องของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางทั่วโลก และมาตรการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ นอกจากนี้ CEO JP Morgan ยังคงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว
- หลังกลุ่ม OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของอุปทานน้ำมันดิบทั่วโลก เพื่อตอบสนองกับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย FGE คาดการณ์ว่าทางกลุ่มจะปรับลดกำลังการผลิตจริงลงเพียง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย. เท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรวมของกลุ่มในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 39.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่บางสำนักคาดว่ากลุ่มจะปรับลดการผลิตลงราว 0.8 – 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลว่าตลาดน้ำมันดิบยังตึงตัว
- รายงาน FGE เดือน ต.ค. 65 คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังประเทศในยุโรปเตรียมหันมาใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในช่วงหน้าหนาวที่กำลังมาถึงนี้ อย่างไรก็ตาม มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในปี 66 ลง 0.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 2.3 ล้านบาร์เรล จากปัจจัยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 65 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงที่ระดับ 0.1 % Y-o-Y ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 3/65 ซึ่งตลาดคาดมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 1.5 % Q-o-Q และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 65 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 3.8 % Y-o-Y
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 - 14 ต.ค. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 5.52 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 85.61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 4.56 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 91.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 91.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดยังคงกังวลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน ก.ย. 65 ปรับตัวสู่ระดับที่ 49.3 จากระดับ 55.0 ในเดือน ส.ค. 65 ขณะที่ทัศนะของประธานเฟดสาขาต่าง ๆ มีความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่ออุปทานตึงตัว หลังกลุ่มโอเปคและชาติพันธมิตรมีมติปรับลดกำลังการผลิตลงกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย. 65