MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565

เงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบ ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน

•    เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนในระหว่างสัปดาห์ ก่อนลดช่วงบวกลงบางส่วน หลังเงินดอลลาร์ฯ ยังได้อานิสงส์จากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ 

•    SET Index ปรับลง โดยเผชิญแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนครั้งใหม่ เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางค่าเงินหยวนและภาพรวมของสกุลเงินเอเชียท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ย หลังมีสัญญาณว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงบวกลงในช่วงต่อมา สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนกลับช่วงสั้นๆ จากตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงมองว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าอาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ตาม

นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทในระหว่างสัปดาห์ยังสอดคล้องกับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน กระนั้นก็ดี เงินบาทฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 ของไทยในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย. ซึ่งน่าจะเติบโตสูงกว่าในไตรมาส 2/65 ที่ผ่านมา
 

 

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565

ในวันศุกร์ที่ 18 พ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนครั้งใหม่ที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 37.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 พ.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 14-18 พ.ย. 2565 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,735 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 24,665 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิพันธบัตร 24,613 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 52 ล้านบาท
 

สัปดาห์ถัดไป (21-25 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.30-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 และข้อมูลการส่งออกเดือนต.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน  ยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 1-2 พ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ตลอดจนดัชนี PMI เดือนพ.ย. ของอังกฤษ ยูโรโซน และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

 

 


 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเกือบตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวลง หลังเผชิญแรงกดดันจากบรรยากาศเชิงลบจากประเด็นความผิดปกติของธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์บริษัทแห่งหนึ่ง ความกังวลเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศหลังมีขีปนาวุธตกในโปแลนด์ รวมถึงแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบัน อนึ่ง หุ้นไทยกลับมาแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงปลายสัปดาห์ระหว่างรอติดตามตัวเลขจีดีพีไทยที่จะประกาศในสัปดาห์หน้า ส่วนหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลงแรงในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ไฟแนนซ์ แบงก์ อสังหาริมทรัพย์ และพลังงานซึ่งมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลงจากความกังวลด้านอุปสงค์

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565

ในวันศุกร์ (18 พ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,617.38 จุด ลดลง 1.22% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,734.04 ล้านบาท ลดลง 10.21% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.97% มาปิดที่ระดับ 600.68 จุด     

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,585 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,630 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 และตัวเลขส่งออกเดือนต.ค.ของไทย รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค. รวมถึงบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 1-2 พ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนพ.ย. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนพ.ย. ของจีน