MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 13-17 มีนาคม 2566

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 13-17 มีนาคม 2566

เงินบาทพลิกแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงต่อเป็นสัปดาห์ที่ 6 เงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงกดดันเงินดอลลาร์ฯ จากปัญหาของแบงก์บางแห่งในสหรัฐฯ

และการคาดการณ์ว่า เฟดอาจไม่สามารถส่งสัญญาณคุมเข้มได้มากนักในการประชุม FOMC วันที่ 21-22 มี.ค. นี้

•    SET Index ร่วงลงหนักท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสถาบันการเงินบางแห่งในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ 
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท


เงินบาททยอยแข็งค่าเกือบตลอดสัปดาห์ และทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย และทยอยอ่อนค่าลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์ระยะสั้นของสหรัฐฯ หลังจากที่ปัญหาของธนาคารบางแห่งในสหรัฐฯ ทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดอาจไม่ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินได้มากนักในการประชุม FOMC เดือนมี.ค. นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และสถานะเข้าซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ หนุนการคาดการณ์ว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 25 bps. ในการประชุม 21-22 มี.ค. นี้  เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางสัญญาณที่สะท้อนว่ามีการเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในแบงก์ที่ประสบปัญหาทั้งในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบกับเงินบาทน่าจะมีแรงหนุนตามปัจจัยทางเทคนิคด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงติดตามปัญหาแบงก์ในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์อย่างต่อเนื่อง
 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 13-17 มีนาคม 2566

ในวันศุกร์ที่ 17 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 9,735 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามที่ 3,692 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 7,103 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 3,411 ล้านบาท)
 

สัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plot และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด ผลการประชุม BOE อัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ประเด็นปัญหาของแบงก์ในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ สถานการณ์เงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขการส่งออกเดือนก.พ. ของไทย ข้อมูล PMI (เบื้องต้น)สำหรับเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.อังกฤษ

 

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 1,518.66 จุดในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ทั้งนี้ หุ้นไทยร่วงลงหนักในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากกังวลปัญหาของภาคธนาคารสหรัฐฯ หลังธนาคารบางแห่งประสบปัญหาและถูกสั่งปิดกิจการ โดยปัจจัยดังกล่าวกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม กระตุ้นให้เกิดแรงขายหุ้นทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆอีกครั้งระหว่างสัปดาห์ หลังมีรายงานข่าวเชิงลบเกี่ยวกับสถาบันการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ตามปัจจัยทางเทคนิค ประกอบกับมีข่าวเกี่ยวกับการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา ซึ่งช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนลงบางส่วน

 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 13-17 มีนาคม 2566

ในวันศุกร์ (17 มี.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,563.67 จุด ลดลง 2.25% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 79,285.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.90% มาปิดที่ระดับ 538.27 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,535 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (21-22 มี.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และประเด็นการเมืองภายในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย LPR เดือนมี.ค. ของจีน การประชุม BOE ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและอังกฤษ ตลอดจนดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น และยูโรโซน