Investment Strategy - นัยยะของตลาดจากการปรับความคาดหมายดอกเบี้ย
การที่ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ล้มไม่น่าจะทำให้ภาคการธนาคารของสหรัฐพัง เพราะงบดุลของธนาคารใหญ่ส่วนใหญ่ยังแข็งแกร่ง และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี
ทั้งนี้ ในทางทฤษฎีแล้ว มาตรการเสริมเงินทุนระยะสั้นของ Fed น่าจะเป็นตัวช่วยที่แข็งแกร่งของธนาคารขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบการเงินของสหรัฐ และยุโรปในสัปดาห์ที่แล้วจะทำให้นักลงทุนต้องกลับมาคำนวณเรื่องการเติบโตและเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง รวมถึงการประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยด้วย ซึ่ง ณ จุดนี้ เราคิดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะปรับตัวแบบสองจังหวะ โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐน่าจะชันขึ้นในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป จากการที่ Fed ยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าเส้นอัตราผลตอบแทนน่าจะเริ่มราบลงเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ จากสถิติในอดีต ตลาดหุ้นไทยมักจะถึงจุดสูงสุดประมาณ 6 เดือนก่อนที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งหมายความว่า โอกาสที่ตลาดไทยจะปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งกำลังหดแคบลงเรื่อย ๆ
ตลาดกำลังปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed
สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาคการธนาคารของสหรัฐทำให้นักลงทุนปรับคาดการณ์ต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่งบางทีอาจจะลดลงมากจนจนเกินกว่าเหตุ ยกตัวอย่างเช่น ในสัปดาห์ที่แล้ว ข้อมูลจาก OIS curve ชี้ว่า Fed อาจจะลดดอกเบี้ยถึง 88bp ภายในสิ้นปีนี้ แต่ตอนนี้คาดไปถึง 92bp แล้ว เรามองว่า Fed ยังไม่บรรลุภารกิจพิชิตเงินเฟ้อ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น เพราะตลาดงานยังคงตึงตัวเกินไป ซึ่งการที่จะดึงให้เงินเฟ้อกลับลงมาอยู่ในช่วง 2-3% ในไตรมาสต่อ ๆ ไปได้นั้น อัตราการว่างงานต้องขยับขึ้นไปยืนเหนือ 4% ดังนั้น เราจึงคิดว่า Fed จะปรับเพิ่มประมาณการดอกเบี้ย terminal rate เป็น 5.5-5.75% ในการประชุม FOMC นัดหน้าในวันที่ 22 มีนาคม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในภาคธนาคารของทั้งสหรัฐและยุโรปที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อาจจะทำให้ Fed ดันให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึงจุดนั้นได้ยาก ซึ่งเราจะทำการอธิบายถึงเหตุผลต่อไป
มาตรฐานการปล่อยกู้ที่เข้มขึ้นจะขยายผลนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลาง
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าผลของนโยบายการเงินจะมี lag time ที่ยาว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขยายผล หรือ ลดผลการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางก็คือการดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์ ยกตัวอย่างเช่น การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้ออย่างจำกัดถ้าหากธนาคารพาณิชย์ยังคงใช้มาตรฐานการปล่อยกู้แบบผ่อนคลายมาก ๆ แต่จะส่งผลอย่างมากหากธนาคารพาณิชย์ใช้มาตรฐานการปล่อยกู้แบบเข้มงวด ทั้งนี้ การที่ SVB ล้มจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับมาตรฐานการปล่อยกู้ซึ่งเข้มงวดขึ้นจากเดิมอยู่แล้วให้เข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ดังนั้น นัยยะจากกรณีนี้ก็คืออัตราการขยายตัวของสินเชื่อจะชะลอตัวลงอย่างมากในระยะต่อไป ทั้งนี้ รายงานภาวะผู้บริโภคล่าสุดของ University of Michigan ชี้ว่าผู้บริโภคแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความสามารถในการขอสินเชื่อในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในเดือนต่อ ๆ ไป อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบดังกล่าวจากการที่ธนาคารพาณิชย์ปรับมาตรการการปล่อยกู้ให้เข้มงวดมากขึ้น