เงินเฟ้อสหรัฐฯ ต่ำคาด แต่การปรับลดดอกเบี้ย น่าจะยังไม่เกิดในเร็วๆนี้
เงินเฟ้อสหรัฐฯ ต่ำคาดเงินเฟ้อสหรัฐฯ เม.ย.ชะลอตัวเหลือ +4.9% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ +5.0% (ทรงตัวจากมี.ค.ที่ +5.0%) ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน) หรือ Core CPI ออกมาที่ +5.5% เป็นไปตามที่ตลาดคาด (ลดลงจาก มี.ค. +5.6%)
การลดลงของเงินเฟ้อเป็นจิตวิทยาบวกต่อตลาดในระยะแรก ก่อนที่ตลาดจะผันผวนเนื้องจากไส้ในของเงินเฟ้อหลายรายการ ยังเพิ่มขึ้นและดูเหมือนลดลงได้ยาก ทั้งอาหาร ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย ส่งผลให้แม้เงินเฟ้อจะลง แต่ตลาดประเมินยังไม่มากพอที่จะสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเร็วๆนี้ ขณะที่สำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นแรงในช่วง 3 วันที่ผ่านมา เริ่มพักตัวเล็กน้อย โดยรวมเรายังมองตัวเลขเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่น่าจะผ่านจุดตึงตัวที่สุดไปแล้ว น่าจะเป็นบวกต่อภาพการลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย
ภาพรวมการรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/66 ยังหนุนการเลือกเก็งกำไรรายตัว จนถึงสิ้นวันที่ 10 พ.ค. บริษัทจดทะเบียนรายงานผลประกอบการแล้ว 210 แห่ง ผลประกอบการรวม +5.9% โดยมีบริษัทที่ผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 79 แห่ง (38%), ลดลง 101 แห่ง (48%) และผลประกอบการพลิกระหว่างกำไร-ขาดทุน (หรือขาดทุนแล้วกลับมากำไร) 30 แห่ง (14%) โดยมีบริษัทที่รายงานผลประกอบการขาดทุน 34 แห่ง (16%) โดยรวมเรายังเห็นสัญญาณบวกของหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภค, ค้าปลีก เปิดเมือง ขณะที่พลังงานและปิโตรเคมี โดยรวมยังอ่อนแอ และหลายบริษัท อาทิ PTTGC และ BANPU ยังมีความเสี่ยงของการปรับประมาณการกำไรลง
ภาพรวมกลยุทธ์: การลดดอกเบี้ยที่ไม่เกิดขึ้นเร็ว จะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ และเป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงตลาดหุ้น ยังลุ้นเป็นการเคลื่อนไหวออกข้างที่มีกรอบการฟื้นตัวด้านบนในระดับ 1,600-1,650 จุด โดยมีแนวต้านระยะสั้นที่ 1,570-1,580 และแนวรับที่ 1,540-1,550 จุด เน้น selective buy กลุ่มที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ชัดเจนในปี 2566 และยังมีการถือครองที่ต่ำ (Underowned)
หุ้นแนะนำ: OR*, BJC, MAJOR*, SAMART*
แนวรับ: 1,550 / แนวต้าน : 1,573-1,580 จุด
สัดส่วนลงทุน: เงินสด 40% vs พอร์ตหุ้น 60%
ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจ
สหรัฐเผยดัชนี CPI เดือนเม.ย. ต่ำกว่าคาดการณ์ - CPI ปรับตัวขึ้น 4.9% yoy ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.0% และชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนมี.ค. และปรับตัวขึ้น 0.4% mom ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนมี.ค.
สหรัฐเผยจำนวนผู้ขอสินเชื่อซื้อบ้านเพิ่มขึ้นสัปดาห์ที่แล้ว หลังดอกเบี้ยปรับตัวลง - โดยจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 5% wow แต่ลดลง 32% yoy หลังการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเพื่อการจำนองแบบคงที่ระยะเวลา 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 6.48% จากระดับ 6.50% ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
จีนเผยภาคการบริการโตต่อเนื่องใน 1Q23 - ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 8.7% yoy โดยการบริการด้านการเดินทางฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่การนำเข้าการบริการอยู่ที่กว่า 9.03 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 21.6% yoy ส่วนการส่งออกการบริการลดลง 4.7% yoy อยู่ที่ 6.8 แสนล้านหยวน ส่งผลให้การค้าขาดดุล 2.22 แสนล้านหยวน
BCH เปลี่ยนแปลงประธานกรรมการบริษัท - ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โดยยังคงดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัทซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่10 พ.ค. 23 และมีมติให้ ผศ.ดร.พญ.สมพร หาญพาณิชย์ กรรมการบริษัทเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทแทน
ประเด็นติดตาม: 11 พ.ค. – US PPI, Initial Jobless Claims / 16 พ.ค. – US Retail Sales / 17 พ.ค. – US Building Permis, EU CPI / 18 พ.ค. – US Existing Home Sales
(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)