วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (24 ส.ค. 66)
ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังตลาดกังวลสต็อกเบนซินสหรัฐฯ ปรับเพิ่มรวมถึงข้อมูลภาคการผลิตที่ชะลอตัว
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลง หลังตลาดกังวลตัวเลขสต็อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล สะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์สหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหรัฐฯ (รวมภาคการผลิตและบริการ) ที่เบื้องต้นปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือน ส.ค. 66 จากระดับ 52.0 ในเดือน ก.ค. 66
+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ส.ค. 66 ปรับตัวลดลงกว่า 6.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 433.5 ล้านบาร์เรล โดยปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.8 ล้านบาร์เรล
-/+ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่าน จะสูงถึง 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นเดือน ก.ย. 66 นี้ แม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐจะยังคงดำเนินอยู่ก็ตาม ในขณะที่ ซาอุดิอาระเบียยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 66 ซึ่งจะถือเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เพื่อดึงสต็อกน้ำมันโลกให้ลดลง
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการนำเข้าน้ำมันเบนซินของเม็กซิโกจากเอเชียยังคงเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์อุปทานที่อาจตึงตัวจากจีนและซาอุดิอาระเบียในช่วงปลายปีนี้
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานในภูมิภาคยังคงมีแนวโน้มตึงตัวในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่อุปสงค์ยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดีเซลในอินโดนีเซียที่ปรับลดลง 33.7% MoM ในเดือน มิ.ย. 66 จากการที่ภาครัฐเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเพื่อลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน