เวสต์เทกซัส 88.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 90.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (3 ต.ค. 66) ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่อ จากดอลลาร์ที่แข็งค่าต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่อ หลังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 แตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน หลังสหรัฐฯ สามารถหลีกเลี่ยงการถูกปิดการดำเนินงานในระยะสั้นได้ ประกอบกับตลาดยังคงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความน่าสนใจน้อยลงสำหรับผู้นำเข้าที่ถือสกุลเงินอื่น
- เศรษฐกิจยุโรปยังคงอ่อนแอ หลังตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหภาพยุโรป เยอรมัน และอังกฤษ (PMI) สำหรับเดือนก.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 43.4, 39.6 และ 44.3 ซึ่งยังคงต่ำกว่า 50 จุด และแสดงถึงการหดตัวของเศรษฐกิจ
+/- ธนาคารโลกยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ให้เติบโตที่ระดับร้อยละ 5.1 คงที่จากระดับที่คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 66 ขณะที่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีหน้า 2567 ลงจากเติบโตที่ร้อยละ 4.8 สู่ระดับร้อยละ 4.4 จากความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่อ่อนแอ
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ฝั่งสหรัฐฯ ที่มีมีแนวโน้มที่ปรับลดลงหลังหมดฤดูกาลขับขี่ในช่วงหน้าร้อน ขณะที่ตัวเลขการส่งออกน้ำมันเบนซินของสิงค์โปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25.2 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานที่คาดว่าจะตึงตัว จากโควต้าที่จำกัดของรัฐบาลจีนในปีนี้ ประกอบกับการจำกัดการส่งออกของรัสเซีย