เวสต์เทกซัส 74.07 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เบรนท์ 78.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (4 ธ.ค. 66) ราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องกว่า 2% หลังตลาดผิดหวังข้อตกลงของกลุ่มโอเปคพลัส ท่ามกลางภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า 2% หลังนักลงทุนกังวลอุปทานจะปรับลดลงน้อยกว่าข้อตกลงของกลุ่มโอเปคพลัส (OPEC+) ที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสแรกของปี 2567 เนื่องจากการปรับลดกำลังการผลิตเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่ได้ประกาศเป็นข้อบังคับ
- เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (PMI) สหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 46.7 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 เป็นระยะเวลานานกว่า 13 เดือน ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าภาคการผลิตสหรัฐฯ ยังคงหดตัว
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะขึ้นต่อเนื่องกว่า 3 สัปดาห์ โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้น 5 แท่นมาอยู่ที่ 505 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ก.ย. 66
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกของเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลงในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ขณะที่ อุปสงค์ในภูมิภาคคาดจะทรงตัวในระดับสูงในเดือน ธ.ค. 66 - ม.ค. 67