MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 15-19 เมษายน 2567
เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 6 เดือน ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงแรง หลังหลุดแนวสำคัญ
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครั้งใหม่ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งแกร่ง
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าตามภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด และท่าทีจากประธานเฟดและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดอาจยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงไปอีกระยะ โดยจะยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้
เงินบาทยังคงอ่อนค่าจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ แต่กรอบการอ่อนค่าชะลอลงบางส่วน เพราะมีแรงประคองกลับจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับตลาดในฝั่งเอเชียระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลี
ใต้ ตกลงที่จะหารือร่วมกันเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
• ในวันศุกร์ที่ 19 เม.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครั้งใหม่ที่ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (11 เม.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยถึง 10,504 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 3,742 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,942 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 800 ล้านบาท)
• สัปดาห์ถัดไป (22-26 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.70-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนเม.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย และดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนมี.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/67 (Advanced) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ การประกาศอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและ อังกฤษ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะตรึงดอกเบี้ยสูงนานกว่าคาดและความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะทวีความรุนแรง
หุ้นไทยร่วงลงแรงตั้งแต่วันทำการแรกของสัปดาห์หลังวันหยุดสงกรานต์ โดยเผชิญแรงขายหลักๆ จากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางปัจจัยลบ อาทิ ประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความกังวลเกี่ยวกับการตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานานของเฟด หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายส่งสัญญาณว่าไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่มการเงิน อาทิ แบงก์และไฟแนนซ์ หลังจากที่มีการทยอยรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567
ทั้งนี้หุ้นไทยดิ่งลงต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์และแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี 5 เดือนที่ 1,330.24 จุด สอดคล้องกับทิศทางหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลง หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
ในวันศุกร์ที่ 19 เม.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,332.08 จุด ลดลง 4.60% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,009.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.17% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.38% มาปิดที่ระดับ 382.54 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (22-26 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,315 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,340 และ 1,350 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค.ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของจีน