MONEY AND STOCK MARKET REVIEW วันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567
เงินบาทแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยปิดบวกต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
• เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 36.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอ
เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ แต่ล้างช่วงอ่อนค่าลงทั้งหมดและขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต่อมาสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงขายตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนเม.ย. ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ประกอบกับประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก
ทั้งนี้ จากข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ และท่าทีของเฟดดังกล่าว ทำให้ตลาดกลับมาเพิ่มน้ำหนักความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนก.ย. นี้อีกครั้ง โดยในส่วนของเงินบาทนั้น แข็งค่าไปที่ 36.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใน
ระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วนท้ายสัปดาห์ตามการปรับโพสิชั่นของตลาดเพื่อรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของไทยในวันที่ 20 พ.ค. นี้
• ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,212 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 3,706 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 3,935 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 229 ล้านบาท)
• สัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.85-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของไทย (20 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ค. ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อ 30 เม.ย.-1 พ.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate ของจีน ผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้ อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของอังกฤษ และดัชนี PMI เบื้องต้นสาหรับเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
• ดัชนีหุ้นไทยปิดบวกได้ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 แม้จะผันผวนระหว่างสัปดาห์
ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวกรอบแคบๆ ในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด ก่อนจะปรับตัวลงในช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของกลุ่มค้าปลีกและพลังงานออกมาน่าผิดหวัง รวมถึงมีแรงขายหุ้นบิ๊กแคปกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์ ซึ่งถูกคัดออกจากการคำนวณในดัชนี MSCI (มีผลวันที่ 31 พ.ค.นี้) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากรายงานข่าวที่ว่าสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการ
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังสหรัฐฯ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ซึ่งชะลอตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่า มีโอกาสมากขึ้นที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมเดือนก.ย.นี้ หุ้นไทยขยับขึ้นต่อในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากปัจจัยเฉพาะตัว
ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,382.68 จุด เพิ่มขึ้น 0.79% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 45,979.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.73% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.49% มาปิดที่ระดับ 384.27 จุด
• สัปดาห์ถัดไป (20-24 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,370 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,390 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ค.ของจีน และอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของญี่ปุ่น