MONEY AND STOCK MARKET REVIEW ประจำวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW ประจำวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567

เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่อง ตามแรงขายของต่างชาติ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

• เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 36.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ฟื้นตัวกลับมาบางส่วน หลังแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด

เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติในช่วงกลางสัปดาห์ การย่อตัวลง
ของราคาทองคำในตลาดโลก และการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียบางส่วน

 

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW ประจำวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหนุนมุมมองของตลาดว่า เฟดอาจยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี แรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลง
บางส่วน หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 และข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ประกอบกับน่าจะมีแรงขายเพื่อปรับโพสิชันก่อนตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่คำนวณจาก PCE/Core Price Indices

• ในวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 11,765 ล้านบาท และ 1,494 ล้านบาท ตามลำดับ

 

 

สัปดาห์ถัดไป (3-7 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.50-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและผลการประชุม ECB ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนพ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน เดือนเม.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

• ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ตามแรงขายสุทธิต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ

ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากยังคงรอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด ก่อนจะร่วงลงในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาคจากความกังวลว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยลบจากแรงขายเพื่อปรับลดความเสี่ยงก่อนมี MSCI rebalance ในช่วงสิ้นเดือน และจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงขายหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม นำโดยอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง เทคโนโลยี และค้าปลีก

ดัชนีหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ พลังงานและอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

 

 

ในวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,345.66 จุด ลดลง 1.38% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,273.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.45% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.56% มาปิดที่ระดับ 379.92 จุด

 

MONEY AND STOCK MARKET REVIEW ประจำวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567

• สัปดาห์ถัดไป (3-7 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,335 และ 1,320 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,355 และ 1,370 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย. ดัชนี PMI และ ISM ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราว่างงานเดือนพ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของยูโรโซน ดัชนี PMI เดือนพ.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ตลอดจนตัวเลขนำเข้าและส่งออกเดือนพ.ค. ของจีน