วิเคราะห์หุ้น : บล.เคจีไอฯ ENERGY SECTOR ได้อานิสงส์จากการที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยสูงขึ้น
คาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 บาท/ลิตร หลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2567
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม รัฐบาลไทยอนุมัติให้ปรับเพิ่มเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศระหว่างวันที่ 20 เมษายน - 31 พฤษภาคม จาก 30 บาท/ลิตร เป็น 33 บาท/ลิตร เพื่อชะลอการผลขาดทุนของกองทุนน้ำมัน ในขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานทยอยปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 0.50 บาท/ลิตร เป็น 32.94 บาท/ลิตร ในวันที่ 31 พฤษภาคม เพิ่มขึ้น 3.00 บาท/ลิตร จากเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ถึงแม้ว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในปัจจุบันจะชนเพดานที่ 33 บาท/ลิตร แล้ว แต่ผลขาดทุนของกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 2 มิถุนายน ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 1.115 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ เพราะในปัจจุบันกองทุนยังคงอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ 0.20 บาท/ลิตร
ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านลิตร/วัน ซึ่งหมายความว่ากองทุนน้ำมันจะมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 300 ล้านบาท/เดือน ถ้าหากต้องอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 0.20 บาท/ลิตร ทั้งนี้นโยบายการตรึงเพดานราคาน้ำมันดีเซลจะมีผลไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งการจะลดภาระของกองทุนน้ำมัน เราเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้ปรับเพิ่มเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศเป็น 35 บาท/ลิตร หลังวันที่ 31 กรกฎาคม ทั้งนี้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 34.94 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ในขณะที่กองทุนน้ำมันเคยมีผลขาดทุนสูงสุดที่ 1.314 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565
เราชอบ PTG มากกว่า OR ในแง่ของอานิสงส์ทางอ้อมจากการที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงขึ้น
ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยบางส่วนให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลดีขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันในประเทศไทยจึงน่าจะได้อานิสงส์ไปด้วย ทั้งนี้เราชอบ PTG Energy( PTG.BK/PTG TB) มากกว่า PTT Oil and Retail Business (OR.BK/OR TB)* เพราะกำไรจากธุรกิจน้ำมันของ PTG คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของกำไรขั้นต้นรวม ในขณะที่กำไรจากธุรกิจน้ำมันของ OR คิดเป็นประมาณ 65% ของกำไรขั้นต้นรวม ในขณะเดียวกันปริมาณยอดขายน้ำมันดีเซลของ PTG ยังคิดเป็นประมาณ 70% ของปริมาณยอดขายน้ำมันรวม แต่สัดส่วนปริมาณยอดขายน้ำมันดีเซลของ OR ต่ำกว่าโดยอยู่ที่ประมาณ 45% ของปริมาณยอดขายน้ำมันรวม เพราะบริษัทขายน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเตาด้วย นอกจากนี้ เรายังคาดว่ากำไรของ PTG ใน 2Q67F จะพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจาก i) ค่าการตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น และ ii) ปริมาณยอดขายน้ำมันเพิ่มขึ้นเราคาดว่าค่าการตลาดน้ำมันของ PTG จะฟื้นตัวขึ้นเป็น 1.75 บาท/ลิตร ใน 2Q67F (+10% YoY, +13% QoQ) สอดคล้องกับเป้าของบริษัทที่ 1.70-1.80 บาท/ลิตร ในขณะที่คาดว่าปริมาณยอดขายน้ำมันของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 12% YoY และน่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ใน 2Q67F เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลใน
ประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว
PLT จะได้อานิสงส์โดยตรงจากการขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล
Pilatus Marine (PLT.BK/PLT TB) ทำสัญญา Contract of Affreightment (COA) สำหรับเรือบรรทุก LPG13 ลำเอาไว้ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของกองเรือของบริษัท ซึ่งอัตราค่าระวางตาม COA จะผันแปรไปตามราคาน้ำมันดีเซลที่สถานีบริการน้ำมันในกรุงเทพตามที่ตกลงไว้กับลูกค้า ซึ่งหมายความว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจขนส่งทางเรือของ PLT น่าจะดีขึ้น QoQ ใน 2Q67F จากอัตราค่าระวางที่ผูกกับราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้น ตามสัญญา COA เนื่องจากคาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้น 6% QoQ เป็น 31.71 บาท/ลิตร ใน 2Q67F หลังจากที่มีการปรับขึ้นราคาเป็น 32.94 บาท/ลิตร มาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม
Valuation and action
PTG ยังคงเป็นหุ้นเด่นในระยะสั้นของเราในกลุ่มพลังงาน
สำหรับธีมการลงทุนเกี่ยวกับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นในประเทศไทย เราเลือก PTG (OP, TPBt10.40) มากกว่า OR (OP, TP Bt24.00) เป็นหุ้นเด่นขนาดกลางถึงใหญ่ และเลือก PLT (OP, TPBt1.14) เป็นหุ้นเด่นขนาดเล็ก แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดน่าจะกลับมาเป็นกังวลกับปัจจัยลบเรื่องที่รัฐบาลไทยมีแผนจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันเป็น 400 บาทในเดือนตุลาคมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คณะอนุกรรมการของแต่ละจังหวัดจะเสนอค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมกลับมาที่คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ทั้งนี้ถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ ผู้บริหาร PTG คาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบ 0.06-0.07 บาท/ลิตร คิดเป็นประมาณ 300-350 ล้านบาท/ปี หรือ 23-26% ของประมาณการกำไรปี 2568F ของเราที่ 1.3 พันล้านบานท ดังนั้นเราจึงแนะนำให้เข้าลงทุนระยะสั้นใน PTG (เพียงสองเดือนคือ มิถุนายน-กรกฎาคม)