Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 8 July 2024

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 8 July 2024

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม หลังสถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดต่อเนื่อง และเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัว

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 8 July 2024

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 - 12 ก.ค. 67) 

- ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเผชิญหน้ากันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอเลาะห์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดมีการสนับสนุนทางการเงินโดยประเทศกาตาร์ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีนและอินเดียปรับเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ตลาดคลายกังวลจากพายุเฮอริเคนเบริลที่ไม่ผ่านแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญ ทำให้อาจไม่มีผลกระทบต่อกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะที่กลุ่ม OPEC ผลิตน้ำมันดิบเกินเป้าจากข้อตกลงควบคุมการผลิต

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

-  สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดเพิ่มขึ้น เนื่องจากกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอเลาะห์มีแนวโน้มที่จะเผชิญหน้ากันเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 โดยล่าสุด สำนักข่าว Reuters เผยผู้บัญชาการภาคสนามอาวุโสของกลุ่มฮิซบอเลาะห์ ในเลบานอนเสียชีวิต จากการโจมตีของอิสราเอลบริเวณทางใต้ของเลบานอน โดยกลุ่มฮิซบอเลาะห์ยิงจรวดมากกว่า 100 ลูก ถล่มฐานที่มั่นต่างๆ ของอิสราเอลเพื่อเป็นการตอบโต้ ทั้งนี้ กองทัพเลบานอนได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนกองกำลังเพิ่มเติมจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากประเทศกาตาร์ โดยก่อนหน้านี้ในปี 2565 กาตาร์มอบเงินช่วยเหลือ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

 

 


 

- เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก S&P Global เผยรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตจีน (Manufacturing PMI) เดือน มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.8 เทียบเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน และแตะระดับสูงสุดตั้งแต่ พ.ค. 64 ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอินเดีย (Manufacturing PMI) เดือน มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 58.3 เทียบเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 57.5 จากคำสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐฯ (Manufacturing PMI) เดือน มิ.ย. 67 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.5 จากระดับ 48.7 เทียบเดือนก่อนหน้า ซึ่งหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความต้องการสินค้าที่ลดลง บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อไป 

-  นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันได้รับแรงสนับสนุน เนื่องจากCNN เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ชมโต้วาที (Debate) ระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และผู้สมัครชิงตำแหน่ง นาย Donald Trump ที่จัดขึ้นวันที่ 27 มิ.ย. 67 ณ เมือง Atlanta รัฐ Georgia ในสหรัฐฯ ซึ่งผลสำรวจ 1 สัปดาห์ก่อนการ Debate คะแนนความนิยมของ Biden อยู่ที่ 45% และ Trump อยู่ที่ 55% แต่ภายหลังการ Debate คะแนนนิยมของ Biden อยู่ที่ 33% และ Trump อยู่ที่ 67% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความนิยมของ Trump สูงขึ้น ซึ่งนโยบายของนาย Donald Trump จะสนับสนุนการใช้พลังงานรูปแบบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น

-  อย่างไรก็ตาม ตลาดคลายกังวลอุปทานตึงตัวหลังพายุเฮอริเคนเบริลที่พัดผ่านทะเลแคริบเบียน และเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้าจะเคลื่อนตัวไปทางใต้สู่ประเทศจาไมกา และไม่ผ่านแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญ ทำให้อาจไม่มีผลกระทบต่อกำลังการผลิตน้ำมัน

 


 

-  ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน หลังสำนักข่าว Reuters เผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ทั้งหมด 12 ประเทศ เดือน มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้น 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 26.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มขึ้นติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง2 เดือน เนื่องจากไนจีเรียและอิหร่านผลิตมากขึ้นกว่าที่สมาชิกอื่นๆ ลดอุปทานลงโดยสมัครใจ ขณะที่สมาชิกกลุ่ม OPEC 9 ประเทศ ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงควบคุมการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ผลิตเกินเป้า 0.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-  ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 67 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 67 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 67 ตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. 67 ตัวเลขการนำเข้าเดือน มิ.ย. 67 จีดีพีไตรมาสที่ 2 และอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 67
 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 – 5 ก.ค. 67)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.62 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 83.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.13 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 86.54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 87.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในดินแดนเลบานอน ซึ่งล่าสุดมีการสู้รบกันอย่างดุเดือด ทำให้เกิดความกังวลว่าการสู้รบดังกล่าวอาจจะลุกลามกลายเป็นการทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบกับประเทศเลบานอนเพิ่มเติม ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มิ.ย. 67 ลดลง 12.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 448.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้น 4,000 ราย อยู่ที่ระดับ 238,000 ราย เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า สะท้อนถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงฟื้นตัวช้า