บริจาคสนับสนุนการกีฬา ’ลดหย่อนภาษี‘ ได้ 2 เท่า

บริจาคสนับสนุนการกีฬา ’ลดหย่อนภาษี‘ ได้ 2 เท่า

โค้งสุดท้ายของการเตรียมลดหย่อนภาษีปี 67 ทราบหรือไม่ว่า การบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า

ใกล้โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการวางแผนลดหย่อนภาษี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการยื่นภาษีปี 67

สำหรับใครที่คาดว่ารายได้ของปี 67 ที่จะต้องยื่นภาษีช่วงต้นปี 68 นั้น เริ่มมีภาษีที่ต้องเสียสูงขึ้น ทำให้รีบมองหาช่องทางลดหย่อนภาษีที่กฎหมายยอมรับเข้ามาช่วย ซึ่ง ณ ตอนนี้ ผู้มีรายได้ยังสามารถบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 นี้ และนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ จะเป็นอย่างไรบ้างไปติดตามพร้อมกัน

บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร

หลักการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬา สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะสามารถนำมาหักลดหย่อน 2 เท่าได้นั้น ต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์กร ดังต่อไปนี้

1.การกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการกีฬา

2.คณะกรรมการกีฬาจังหวัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการ กีฬาแห่งประเทศไทย

3.กรมพลศึกษา

4.สมาคมกีฬาที่ได้รับอนุญาต ให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการ กีฬาแห่งประเทศไทย

5.กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ หรือสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า แห่งประเทศไทย ต่อท้าย

ทั้งนี้ หลังจากบริจาคผ่านระบบ e-Donation แล้ว ไม่ต้องเก็บหลักฐานไว้ก็สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เนื่องจากเป็นระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรใช้รองรับข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายแก่ประชาชนอยู่แล้ว

หลักเกณฑ์บริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคลที่บริจาคสนับสนุนการกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สามารถนำจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

- บุคคลธรรมดาบริจาคเป็นเงินอย่างเดียว สามารถนำจำนวนเงินที่บริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวน 2 เท่า แต่เมื่อรวมการบริจาคทุกรายการแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้ทั้งหมดที่ได้รับหลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นตามกฎหมายแล้ว

- บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเป็นทรัพย์สินหรือบริจาคเป็นเงิน สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมการบริจาคทุกรายการแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย

- ผู้บริจาคโอนทรัพย์สินหรือสินค้าที่มีไว้ขายเพื่อสนับสนุนการกีฬาในนามบุคคลธรรมดา หรือบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ แต่ให้หักได้ตามต้นทุนมูลค่าสินค้าที่เหลืออยู่เท่านั้น และเมื่อหักเป็นต้นทุนทางบัญชีแล้ว ไม่นำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายอีก และไม่ถือเป็นมูลค่าขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

เกณฑ์ในการบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า เพื่อสนับสนุนการกีฬา

ในกรณีที่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล มีการบริจาคโดยใช้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้าเพื่อสนับสนุนการกีฬา จะมีเกณฑ์ในการบริจาคดังนี้

1.ลักษณะการบริจาคในรูปแบบของการซื้อสินทรัพย์มาบริจาค จำเป็นต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐานดังกล่าว เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค

2.การนำสินทรัพย์สินของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้มีการบันทึกบัญชีนำมาบริจาค โดยมีหลักฐาน ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณ หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินเป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค

3.การนำสินค้าที่ผลิตเอง หรือซื้อมาเพื่อขาย โดยมีหลักฐานให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้เป็นมูลค่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาสินค้าคงเหลือยกมา

4.มูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อบริจาค จะต้องมีราคาที่ไม่สูงเกินจริง

สรุป...บริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ลดหย่อนได้ 2 เท่า

มาตรการบริจาคสนับสนุนการกีฬาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรกีฬาระดับจังหวัดและระดับประเทศได้พัฒนาศักยภาพนักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศ
โดยผู้บริจาคทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เมื่อบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่ 5 หน่วยรับบริจาค ซึ่งประกอบด้วย 1.การกีฬาแห่งประเทศไทย 2.คณะกรรมการกีฬาจังหวัด 3.กรมพลศึกษา 4.สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด 5.กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ หรือสมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า แห่งประเทศไทย

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting